แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าใช้จ่ายที่โจทก์อ้างว่ามีการหักให้เจ้าของฟิล์มภาพยนต์ ที่ นำมาฉายนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการจัดทำหลักฐานการรับเงินไว้ บัญชีแสดงการจ่ายเงินก็ไม่มีจ่ายให้แก่ผู้ใด จำนวนเท่าใดก็ไม่ปรากฏ จึงไม่อาจนำจำนวนค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการ คำนวณภาษีที่ต้องชำระของโจทก์ การที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนด ค่าใช้จ่ายให้เป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 75 เป็นประโยชน์แก่โจทก์ มากกว่า ไม่มีข้อที่โจทก์จะอ้างได้ว่าหักค่าใช้จ่ายให้ไม่ถูกต้อง และเป็นผลร้ายแก่โจทก์ โจทก์จึงนำเหตุดังกล่าวมาเป็นข้ออ้าง เพื่อให้เพิกถอนการประเมินไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ทำการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี พ.ศ. 2525 และ 2526 ให้โจทก์เสียภาษีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 345,196.32 บาทโจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ โจทก์เห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบ เนื่องจากรายได้จากการฉายภาพยนตร์เมื่อหักค่าอากรมหรสพออกแล้ว จะต้องแบ่งให้แก่เจ้าของฟิล์มภาพยนตร์ในกรณีภาพยนตร์ไทยร้อยละ 60 และภาพยนตร์ต่างประเทศร้อยละ 50 เงินจำนวนดังกล่าวถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์สามารถนำมาคำนวณกำไรสุทธิได้และไม่เข้าข้อห้ามตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรโจทก์มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรและตามความในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ก็ไม่ได้กำหนดว่ากิจการโรงภาพยนตร์ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 75 ดังที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยทำการประเมินโจทก์ ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า รายจ่ายค่าส่วนแบ่งแก่เจ้าของฟิล์มภาพยนตร์ โจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ไม่ได้ว่าโจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้ใด เมื่อใด จำนวนเท่าใดเจ้าพนักงานประเมินจึงคิดคำนวณหักค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 75 ของเงินได้พึงประเมินเป็นการเหมา โดยเจ้าพนักงานประเมินได้คำนวณเปรียบเทียบกับการหักค่าใช้จ่าย โดยนำเอาค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่โจทก์จ่ายจริงตามหลักฐานที่โจทก์มีอยู่และนำมาแสดงต่อเจ้าพนักงานได้เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ค่าอากรมหรสพ ค่าภาษีบำรุงเทศบาลรวมกัน ปรากฏว่าการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมามีรายจ่ายสูงกว่า จึงเป็นประโยชน์แก่โจทก์มากกว่า
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์นำสืบถึงค่าใช้จ่ายที่มีการหักให้เจ้าของฟิล์มภาพยนตร์ที่นำมาฉายตามส่วน ตามที่ปรากฏในแบบยื่นแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2525และ 2526 นั้น คงมีแต่คำเบิกความของนายศุภชัย เงยไพบูลย์ ว่ามีการแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของฟิล์มภาพยนตร์ที่นำมาฉายกับโจทก์ในอัตราร้อยละ 60 ต่อ 40 และ 50 ต่อ 50 ตามประเภทของภาพยนตร์ที่นำมาฉายว่าเป็นภาพยนตร์ไทยหรือภาพยนตร์ต่างประเทศ ตามลำดับข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์คงได้ความเพียงตามที่กล่าว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นว่าได้มีการจัดทำหลักฐาน การรับเงินกันไว้แต่อย่างใด บัญชีที่แสดงว่ามีการจ่ายเงินดังที่กล่าวก็ไม่มีมาแสดง จำนวนเงินที่จ่ายในแต่ละปีภาษีที่ถูกประเมินจ่ายให้แก่ผู้ใดจำนวนเท่าใดก็ไม่ปรากฏ แม้กระทั่งคำเบิกความของนายศุภชัย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์แทนโจทก์ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นจำนวนตามที่แสดงไว้ในแบบยื่นแสดงรายการเสียภาษี จึงไม่อาจนำจำนวนค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระของโจทก์ได้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดค่าใช้จ่ายให้เป็นการเหมาในอัตราร้อยละ75 เช่นนั้น จึงเป็นการคิดหักค่าใช้จ่ายที่ให้ประโยชน์แก่โจทก์มากกว่าอยู่แล้ว ไม่มีข้อที่โจทก์จะอ้างได้ว่าหักค่าใช้จ่ายให้ไม่ถูกต้องและเป็นผลร้ายแก่โจทก์ โจทก์จึงนำเอาเหตุนี้มาเป็นข้ออ้างเพื่อให้เพิกถอนการประเมินไม่ได้
พิพากษายืน.