คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 44/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2500 ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำผิดในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2500 ถือว่าเป็นการแตกต่างในข้อสารสำคัญเท่ากับจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามวันที่โจทก์ฟ้อง ต้องยกฟ้อง จำเลยจะหลงข้อต่อสู้หรือไม่ ไม่สำคัญ
จำเลยเบิกความเท็จ และนำสืบแสดงหลักฐานเท็จต่อศาลในคดีแพ่ง ว่าก่อนตายผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยจำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้โจทก์และจำเลย ศาลหลงเชื่อจึงสั่งให้ตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แล้วจำเลยได้นำสำเนาคำสั่งศาลนั้นไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ๆ ก็บันทึกข้อความคำสั่งศาลไว้ว่าเป็นมรดกไม่มีพินัยกรรม และโอนโฉนดใส่ชื่อจำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก ดังนี้ จะถือว่าจำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗, ๑๘๐, ๒๖๗, ๙๐, ๙๑
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอ้างว่าจะมีพินัยกรรมหรือไม่ไม่มีทางทราบ ต่อมาวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ จำเลยเบิกความต่อศาลว่า ก่อนตาย ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมตั้งแต่ก่อนที่จำเลยยวื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ศาลเชื่อว่าเป็นมรดกไม่มีพินัยกรรม มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผุ้จัดการมรดก แล้วจำเลยได้นำสำเนาคำสั่งศาลไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ๆ จึงบันทึกข้อความตามคำสั่งศาลนั้นลงไว้ว่าเป็นทรดกไม่มีพินัยกรรม และโอนโฉนดใส่ชื่อจำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเบิกความเท็จในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้ความในการพิจารณาในข้อสารสำคัญจำเลยจะหลงต่อสู้หรือไม่ไม่สำคัญ เท่ากับว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานนั้นตามวันที่โจทก์ฟ้อง ส่วนความผิดตามมาตรา ๒๖๗ ข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยได้นำสำเนาคำสั่งศาลไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ๆ ก็บันทึกข้อความคำสั่งศาลไว้ว่าเป็นมรดกไม่มีพินัยกรรม และโอนโฉนดใส่ชื่อจำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกให้เท่านั้น
จะถือว่าจำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารไม่ได้ ที่เจ้าพนักงานจัดการให้ก็เพราะมีสำเนาคำสั่งศาลอันมีข้อความปรากฎอยู่แล้วเป็นหลักฐาน จำเลยมิได้แจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานแต่ประการใด จึงลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๖๗ ไม่ได้ดุจกัน พิพากษายืน

Share