คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4380/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อขายมีข้อความว่า ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,850,000 บาท จะจ่ายในเมื่อทางธนาคารอนุมัติให้ ไม่ได้กำหนดให้เห็นต่อไปว่าหากธนาคารไม่อนุมัติให้จะมีผลเป็นอย่างไร การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงด้วยวาจาว่า หากธนาคารอนุมัติเงินกู้แก่โจทก์ไม่ครบ 1,850,000 บาท ให้ถือว่าสัญญาจะซื้อขายเลิกกัน โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบอธิบายข้อความในเอกสารไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
โจทก์ประกอบอาชีพเสริมสวย ไม่มีร้านเป็นของตนเอง เหตุที่ต้องการซื้อตึกแถวจากจำเลยก็เพราะร้านเสริมสวยที่ทำอยู่จะหมดสัญญาเช่า เงิน 150,000 บาท ที่วางมัดจำให้จำเลยไว้ก็เป็นเงินที่ยืมมาจากมารดา ในขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่ได้ติดต่อกับธนาคารยังไม่แน่ว่าธนาคารจะให้กู้หรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด โดยปกติการทำสัญญาจะซื้อขายผู้ซื้อจะเอาเงินมาจากที่ใดเป็นเรื่องของผู้ซื้อเอง ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในสัญญา แต่สัญญาจะซื้อขายฉบับพิพาทนี้เขียนไว้ว่าเงินที่เหลืออีก 1,850,000 บาท จะจ่ายในเมื่อธนาคารอนุมัติให้แสดงว่าได้มีการพูดถึงเรื่องเงินที่จะนำมาจ่ายครั้งต่อไปกันไว้แล้วว่าหากธนาคารไม่อนุมัติให้กู้เงินจำนวนดังกล่าวแล้วสัญญาจะซื้อขายเป็นอันเลิกกัน ต่อมาธนาคารอนุมัติให้โจทก์กู้เงินได้เพียง 1,000,000 บาท ไม่ถึงจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาโดยมิใช่เป็นเพราะความผิดของฝ่ายใด สัญญาจะซื้อขายจึงเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนมัดจำที่ริบไว้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยจะริบเสียมิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อขายตึกแถว 1 คูหา พร้อมที่ดิน จำเลยผิดสัญญา จำเลยจึงมีหน้าที่คืนเงินมัดจำและค่าติดต่อกู้เงินให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 190,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ผิดนัดไม่ไปทำการจดทะเบียนโอน จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 150,000 บาท ได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในข้อกฎหมายตามที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อตกลงด้วยวาจาเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาว่า หากธนาคารอนุมัติเงินกู้แก่โจทก์ไม่ครบ 1,850,000 บาท ให้ถือว่าสัญญาจะซื้อขายเลิกกัน เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) หรือไม่ ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อตึกแถวจากจำเลยในราคา 2,000,000 บาท ได้วางมัดจำไว้ในวันทำสัญญา 150,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 1,850,000 บาท จะชำระเมื่อธนาคารอนุมัติให้โจทก์กู้เงินปรากฏตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.4 ต่อมาโจทก์ได้รับอนุมัติจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้กู้เงินได้เพียง 1,000,000 บาท จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมตึกแถวแล้ว โจทก์ไม่ไปรับโอนตามกำหนดนัด เห็นว่า สัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.4 ข้อ 4 มีข้อความว่า ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,850,000 บาทจะจ่ายในเมื่อทางธนาคารอนุมัติให้ ไม่ได้กำหนดให้เห็นต่อไปว่า หากธนาคารไม่อนุมัติให้จะมีผลเป็นอย่างไร การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงด้วยวาจาว่า หากธนาคารอนุมัติเงินกู้แก่โจทก์ไม่ครบ 1,850,000 บาท ให้ถือว่าสัญญาจะซื้อขายเลิกกัน โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบอธิบายข้อความในเอกสารไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ยอมรับฟังพยานบุคคลของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวเห็นว่า โจทก์ประกอบอาชีพเสริมสวย ไม่มีร้านเป็นของตนเอง เหตุที่ต้องการซื้อตึกแถวจากจำเลยก็เพราะร้านเสริมสวยที่ทำอยู่จะหมดสัญญาเช่า เงิน 150,000 บาท ที่วางมัดจำให้จำเลยไว้ก็เป็นเงินที่ยืมมาจากมารดา เห็นได้ว่าโจทก์มีฐานะไม่ดี ไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะซื้อตึกแถวจากจำเลยได้ ในขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่ได้ติดต่อกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ยังไม่แน่ว่าธนาคารจะให้กู้หรือไม่เป็นจำนวนเท่าใด หากไม่มีความหวังที่แน่นอน โจทก์ก็คงไม่กล้าวางมัดจำไว้เพราะอาจถูกริบได้ โดยปกติการทำสัญญาจะซื้อขายผู้ซื้อจะเอาเงินมาจากที่ใดเป็นเรื่องของผู้ซื้อเอง ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในสัญญา แต่สัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.4 ข้อ 4 เขียนไว้ว่าเงินที่เหลืออีก 1,850,000 บาท จะจ่ายในเมื่อธนาคารอนุมัติให้ แสดงว่าได้มีการพูดถึงเรื่องเงินที่จะนำมาจ่ายครั้งต่อไปกันไว้แล้ว ซึ่งโจทก์นำสืบว่า ได้บอกกับจำเลยว่าจะไม่ซื้อเนื่องจากเงินไม่พอ จำเลยว่าจะหาทางช่วยเหลือ โดยจะติดต่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้เพราะจำเลยรู้จักพนักงานธนาคาร จึงได้ทำสัญญากันโดยมีข้อตกลงว่า หากธนาคารไม่อนุมัติให้กู้เงินจำนวน 1,850,000 บาท แล้ว สัญญาจะซื้อขายเป็นอันเลิกกัน แต่จำเลยว่าที่ปรากฏในสัญญาก็เพียงพอแล้ว หลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยก็รับว่าได้ร่วมไปกับโจทก์ในการติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งจำเลยเคยกู้และรู้จักพนักงานธนาคารมาก่อน ถ้าไม่มีข้อตกลงกันดังกล่าวก็ไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องไปกับโจทก์ นอกจากตัวโจทก์แล้ว ยังมีนายโกเมน รุจิราลัย และนายศุภโชติ วีระเพียร ซึ่งรู้เห็นในการทำสัญญาจะซื้อขายและลงชื่อเป็นพยานในสัญญามาเบิกความยืนยันว่า ได้มีข้อตกลงกันว่าหากธนาคารไม่อนุมัติให้กู้เงินจำนวน 1,850,000 บาท แล้ว ให้ถือว่า สัญญาจะซื้อขายเลิกกัน แม้พยานจะเป็นญาติกับโจทก์ แต่เมื่อฟังประกอบกับเหตุผลดังกล่าวมาแล้วข้างต้นเชื่อได้ว่าได้มีข้อตกลงกันดังกล่าวจริง เมื่อต่อมาธนาคารอาคารสงเคราะห์อนุมัติให้โจทก์กู้เงินได้เพียง 1,000,000บาท ไม่ถึงจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาโดยมิใช่เป็นเพราะความผิดของฝ่ายใด สัญญาจะซื้อขายจึงเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยก็ต้องคืนมัดจำที่ริบไว้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยจะริบเสียมิได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีสิทธิริบมัดจำเสียได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงินมัดจำจำนวน 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์

Share