คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4376/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ถึงแก่กรรมโดยไม่มีทายาทขอเข้าเป็นคู่ความแทนผู้มรณะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 วรรคสอง ให้ศาลจำหน่ายคดีจากสารบบความได้นั้น ต้องเป็นกรณีมีข้อเท็จจริงเข้ามาสู่ศาลว่าคู่ความได้มรณะลงระหว่างคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาล คดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ถึงแก่กรรมมาสู่สำนวนศาลระหว่างคดีค้างพิจารณาของศาลฎีกาแต่อย่างใด ฉะนั้น เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาย่อมผูกพันจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวให้ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองและจำหน่ายคดีจากสารบบความมิได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 27.5 ตารางวา คืนโจทก์ หากโอนคืนไม่ได้ ให้ใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 400,000บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 27.5 ตารางวา คืนโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากโอนคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา

จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องฉบับแรกว่า โจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2537 ซึ่งขณะนั้นคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา และไม่ปรากฏว่าทายาทโจทก์ยื่นคำร้องขอรับมรดกความ ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2538 ภายหลังจากโจทก์ถึงแก่กรรมเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือนเศษ สิทธิฎีกาของโจทก์และสิทธิการขอเข้ารับมรดกความแทนโจทก์ขาดอายุความ ขอให้จำหน่ายคดีและยื่นคำร้องฉบับที่สองว่า ไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ เพราะโจทก์ถึงแก่กรรมไปแล้ว โจทก์จึงสิ้นสภาพแห่งการเป็นโจทก์ จำเลยทั้งสองขอใช้ราคาที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่ผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จเป็นเวลา 5 ปี ดอกเบี้ยเป็นเงิน 150,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 550,000 บาท โดยนำเงินดังกล่าวมาวางศาลในวันยื่นคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องฉบับแรกว่า ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2538 ซึ่งจำเลยทั้งสองก็มาฟังคำพิพากษา แต่จำเลยทั้งสองไม่แจ้งให้ทราบว่าโจทก์ถึงแก่กรรมเพื่อจะหาผู้รับมรดกความแทนที่โจทก์มาดำเนินคดีต่อไป เมื่อศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วย่อมต้องถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่มีเหตุจะดำเนินการตามคำร้องของจำเลยให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ และมีคำสั่งคำร้องฉบับที่สองว่า ตามคำร้องโจทก์ยังมีทายาทที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินได้ ไม่ใช่กรณีที่ไม่สามารถโอนคืนที่ดินได้ จำเลยทั้งสองจะใช้ราคาที่ดินแทนยังไม่ได้ จึงไม่รับ คืนเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2537 โจทก์จึงสิ้นสภาพความเป็นโจทก์ในคดีนี้ ขณะถึงแก่กรรมคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยไม่ปรากฏว่าทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความในคดีนี้แต่อย่างใด จนกระทั่งระยะเวลาล่วงเลยเป็นเวลาเกินหนึ่งปี ขาดอายุความรับมรดกตามกฎหมาย ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2538 ภายหลังจากโจทก์ถึงแก่กรรม 1 ปี 1 เดือน สิทธิในการขอเข้ารับมรดกความสิ้นสุดลงแล้ว ศาลฎีกาต้องจำหน่ายคดีจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 วรรคสอง นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ถึงแก่กรรมโดยไม่มีทายาทขอเข้าเป็นคู่ความแทนผู้มรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 วรรคสอง ให้ศาลจำหน่ายคดีจากสารบบความได้นั้น ต้องเป็นกรณีมีข้อเท็จจริงเข้ามาสู่ศาลว่าคู่ความได้มรณะลงระหว่างคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาล คดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ถึงแก่กรรมมาสู่สำนวนศาลระหว่างคดีค้างพิจารณาของศาลฎีกาแต่อย่างใด ฉะนั้น เมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาย่อมผูกพันจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวให้ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองและจำหน่ายคดีจากสารบบความมิได้ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า หากศาลไม่จำหน่ายคดีของโจทก์จำเลยทั้งสองก็สามารถเลือกวิธีการนำเงินตามราคาประเมินของกรมที่ดินมาชำระแทนการโอนที่ดินได้นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองจะใช้ราคาที่ดินแทนได้ต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์ได้เท่านั้น มิใช่ให้จำเลยทั้งสองเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อทายาทของโจทก์ยังสามารถเข้าดำเนินการแทนโจทก์ในชั้นบังคับคดีได้ จำเลยทั้งสองก็ต้องโอนที่ดินพิพาทคืนให้ จะขอใช้ราคาที่ดินแทนยังมิได้ ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share