คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4375/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้น เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ทำแผนจะนำหนี้ดังกล่าวไปจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (3) (ข) และมาตรา 90/42 ทวิ และกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนทั้งแผนฟื้นฟูกิจการนั้นก็เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ในเรื่องเกี่ยวกับหนี้สินและวิธีการในการจัดกิจการของลูกหนี้ต่อไป นอกจากนี้รายการในแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (6) ก็ให้กำหนดให้ในแผนมีรายการคือ วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้อง เช่นนี้สิทธิเรียกร้องในการที่จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการโดยสภาพแล้วย่อมเป็นสิทธิเรียกร้องที่สามารถโอนกันได้ดั่งเช่นสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็เป็นวิธีการในการดำเนินการของสถาบันการเงินเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องสิ้นเปลืองในการบริหารจัดการหนี้เสียและเป็นวิธีการที่จะนำรายได้มาใช้ในการบริหารธุรกิจต่อไป เมื่อปรากฏว่าในการโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้โอนสิทธิเรียกร้องตามแผนให้แก่ธนาคารสแตนดาร์ด แบงค์ เอเชีย จำกัด และมีการกำหนดรายละเอียดดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นเมื่อปรากฏว่าธนาคารสแตนดาร์ด แบงค์ เอเชีย จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องมายังธนาคารสแตนดาร์ด พีเอลซี จำกัด และธนาคารสแตนดาร์ด พีเอลซี จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวพร้อมหลักประกันมายังโจทก์และได้มีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนจึงรับมาซึ่งบรรดาสิทธิทั้งหลายที่เจ้าหนี้เดิมเคยมีอยู่และสามารถใช้ยันจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามจำนวนที่ค้างอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,118,762,894.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 898,001,222.49 บาท ในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดคือ เอ็มแอลอาร์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โดยให้ใช้อัตราเฉลี่ย ณ วันทำการแรกของแต่ละไตรมาสบวกร้อยละ3.75 ต่อปี และบวกร้อยละ 2 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า สิทธิในการได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการสามารถโอนสิทธิเรียกร้องกันได้หรือไม่ ปัญหานี้ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับโอนหนี้ที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้แล้วซึ่งเจ้าหนี้เดิมได้เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย โจทก์ย่อมเล็งเห็นได้ว่าเมื่อรับโอนมาแล้วก็ต้องไปดำเนินการบริหารจัดการ รวมทั้งฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยอย่างแน่นอน จึงมีลักษณะเป็นการซื้อขายความขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ของจำเลยไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ในการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้น เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ทำแผนจะนำหนี้ดังกล่าวไปจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (3) (ข) และมาตรา 90/42 ทวิ และกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนทั้งแผนฟื้นฟูกิจการนั้นก็เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ในเรื่องเกี่ยวกับหนี้สินและวิธีการในการจัดกิจการของลูกหนี้ต่อไป นอกจากนี้รายการในแผนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (6) ก็ให้กำหนดให้ในแผนมีรายการคือ วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้อง เช่นนี้สิทธิเรียกร้องในการที่จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการโดยสภาพแล้วย่อมเป็นสิทธิเรียกร้องที่สามารถโอนกันได้ดั่งเช่นสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็เป็นวิธีการในการดำเนินการของสถาบันการเงินเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องสิ้นเปลืองในการบริหารจัดการหนี้เสียและเป็นวิธีการที่จะนำรายได้มาใช้ในการบริหารธุรกิจต่อไป เมื่อปรากฏว่าในการโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้โอนสิทธิเรียกร้องตามแผนให้แก่ธนาคารสแตนดาร์ด แบงค์ เอเชีย จำกัด และมีการกำหนดรายละเอียดดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นเมื่อปรากฏว่า ธนาคารสแตนดาร์ด แบงค์ เอเชีย จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องมายังธนาคารสแตนดาร์ด พีเอลซี จำกัด และธนาคารสแตนดาร์ด พีเอลซี จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวพร้อมหลักประกันมายังโจทก์และได้มีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนจึงรับมาซึ่งบรรดาสิทธิทั้งหลายที่เจ้าหนี้เดิมเคยมีอยู่และสามารถใช้ยันจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามจำนวนที่ค้างอยู่ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าค่าตอบแทนในการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นจำนวนต่ำ เห็นว่า ในการโอนสิทธิเรียกร้องจะมีค่าตอบแทนเท่าใด ย่อมเป็นเรื่องระหว่างผู้รับโอนกับผู้โอนอันเป็นไปตามกลไกในการดำเนินธุรกิจ หาได้กระทบถึงจำนวนหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดในมูลหนี้ที่ได้โอนไปแต่อย่างใดไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา จำเลยจึงต้องรับผิดตามฟ้อง แต่เมื่อไม่มีกฎหมายให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยได้เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเห็นสมควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงสุดไว้
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,118,762,894.86 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยของต้นเงิน 989,001,222.49 บาท ในอัตราดอกเบี้ยผิดนัด คือ อัตราเอ็มแอลอาร์ ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ณ วันทำการแรกของแต่ละไตรมาสบวกร้อยละ 3.75 ต่อปี และบวกร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท

Share