แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา68เดิมที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีบัญญัติว่านิติบุคคลนั้นจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติทั้งหลายของประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นเมื่อไม่ปรากฎว่ามีกฎหมายใดบัญญัติให้สำนักงานเขตพระนครจำเลยที่2และสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจำเลยที่4มีฐานะเป็นนิติบุคคลแต่อย่างใดจำเลยที่2และที่4จึงเป็นเพียงส่วนราชการในสังกัดของกรุงเทพมหานครจำเลยที่1และกรมที่ดินจำเลยที่3ตามลำดับเท่านั้นไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่2และที่4 แม้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการออกโฉนดที่ดินในคดีนี้แต่เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครก็เป็นข้าราชการที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกรมที่ดินจำเลยที่3หากดำเนินการออกโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างใดอธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา61ดังนั้นจำเลยที่3ในฐานะที่เป็นกรมย่อมถูกฟ้องเป็นจำเลยเพื่อให้รับผิดชอบดำเนินการในเรื่องการออกโฉนดที่ดินได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่3 การที่วัดโจทก์ยินยอมให้เทศบาลนครกรุงเทพในขณะนั้นขยายถนนอัษฎางค์เข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์เป็นกรณีที่วัดยินยอมให้มีการขยายเขตถนนเดิมซึ่งเป็นทางหลวงอยู่แล้วเข้าไปในที่วัดถือได้ว่าโจทก์ได้อุทิศที่ดินส่วนนี้โดยปริยายให้เป็นทางหลวงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1304(2)การอุทิศเช่นว่านี้ย่อมมีได้ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ร.ศ.121มาตรา7แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2477มาตรา3อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเพราะกรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดห้ามไว้ไม่ที่ดินของโจทก์ส่วนที่ขยายเป็นถนนอัษฎางค์จึงเป็นทางสาธารณะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2412 และได้พระราชทานที่ดินให้แก่โจทก์ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามกฎหมาย ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวต่อจำเลยที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 3เป็นผู้บังคับบัญชาตามกฎหมายของจำเลยที่ 4 เมื่อช่างแผนที่ไปทำการรังวัด ผู้แทนโจทก์นำชี้ แต่ผู้แทนจำเลยที่ 2 คัดค้านการนำชี้ของโจทก์ จำเลยที่ 4 ได้มีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่โจทก์ตามแนวเขตที่ผู้แทนจำเลยที่ 2 นำชี้ โจทก์เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ธรณีสงฆ์นั้นจะกระทำได้ก็แต่โดยพระบรมราชโองการในสมัยปกครองประเทศด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชหรือโดยการออกกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันยังไม่มีพระบรมราชโองการหรือการออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ ที่ธรณีสงฆ์จึงยังเป็นของโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 4 ฉบับที่ 44/2532 ลงวันที่ 29 กันยายน 2532เพิกถอนคำคัดค้านของจำเลยที่ 2 ห้ามจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขัดขวางการออกโฉนดที่ดินของโจทก์และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ออกโฉนดที่ดินตามแนวที่โจทก์นำชี้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงส่วนราชการของจำเลยที่ 1 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องแนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันตกที่ผู้แทนโจทก์นำชี้ทับถนนอัษฎางค์ตลอดแนวถนนมิใช่ที่ธรณีสงฆ์ของโจทก์ แต่เป็นทางหลวงเทศบาลที่พระธรรมปาโมกข์ ผู้รักษาการเจ้าอาวาสของโจทก์ได้แสดงเจตนาแทนโจทก์ตกลงยินยอมให้เทศบาลกรุงเทพ (จำเลยที่ 1 ในขณะนั้น)ขยายถนนอัษฎางค์ล้ำเข้าไปในสุสานหลวงวัดโจทก์ ที่ดินที่ผู้แทนโจทก์นำชี้ทางด้านทิศตะวันตกจึงมิใช่ของโจทก์ แต่เป็นที่ดินที่โจทก์อุทิศให้เป็นของหลวงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)ส่วนที่ดินที่โจทก์นำชี้ทางด้านทิศใต้ล้ำเข้าไปในเขตคลองวัดราชบพิธซึ่งเป็นคลองสาธารณะที่ประชาชนใช้สัญจรทางน้ำขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลเป็นเพียงส่วนราชการของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการออกโฉนดโจทก์จึงไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.42 หรือ จ.42/1 โดยอาณาเขตด้านทิศตะวันตกจดแนวกำแพงวัดด้านทิศเหนือลงมาถึงแนวเขื่อนอิฐคลองวัดราชบพิธด้านทิศใต้ตามที่จำเลยที่ 1 คัดค้านส่วนอาญาเขตที่ดินด้านทิศใต้จดแนวเขื่อนอิฐคลองวัดราชบพิธจากด้านทิศตะวันออกจนจดถนนอัษฎางค์ ด้านทิศตะวันตกดังที่โจทก์นำชี้ตามแผนที่เอกสารหมาย ล.5 ให้เพิกถอนคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับแนวเขตที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 4
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 68 เดิมที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีบัญญัติว่า นิติบุคคลนั้นจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติทั้งหลายของนี้หรือกฎหมายอื่น เมื่อไม่ปรากฎว่ามีกฎหมายใดบัญญัติให้จำเลยที่ 2และที่ 4 มีฐานะเป็นนิติบุคคลแต่อย่างใดจำเลยที่ 2 และที่ 4จึงเป็นเพียงส่วนราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับเท่านั้น และไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า ที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกในส่วนที่ขยายเป็นถนนอัษฎางค์เป็นทางสาธารณะหรือเป็นที่ธรณีสงฆ์ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อเทศบาลนครกรุงเทพ(จำเลยที่ 1 ในขณะนั้น) ขอขยายถนนอัษฎางค์เข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์เมื่อ พ.ศ. 2482 พระธรรมปาโมกข์รักษาการแทนเจ้าอาวาสในขณะนั้นไม่ขัดข้อง เทศบาลนครกรุงเทพจึงดำเนินการขยายถนนอัษฎางค์จนแล้วเสร็จ ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่พระธรรมปาโมกข์รักษาการแทนเจ้าอาวาสโจทก์ในขณะนั้นยินยอมให้เทศบาลนครกรุงเทพขยายถนนอัษฎางค์เข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์ดังกล่าว เป็นกรณีที่วัดยินยอมให้มีการขยายเขตถนนเดิมซึ่งเป็นทางหลวงอยู่แล้วเข้าไปในที่วัดถือได้ว่าโจทก์ได้อุทิศที่ดินส่วนนี้โดยปริยายให้เป็นทางหลวง ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) และเห็นว่าการอุทิศเช่นนี้ย่อมมีได้ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ร.ศ. 121 มาตรา 7 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 มาตรา 3 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เพราะกรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดห้ามไว้ไม่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองว่าที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกส่วนที่ขยายเป็นถนนอัษฎางค์เป็นทางสาธารณะฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 หรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการออกโฉนดตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงไม่มีหน้าที่ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เห็นว่า แม้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการออกโฉนดที่ดินในคดีนี้แต่เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครก็เป็นข้าราชการที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 หากดำเนินการออกโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างใด อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ดังนั้น จำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นกรมย่อมถูกฟ้องเป็นจำเลยเพื่อให้รับผิดชอบดำเนินการในเรื่องการออกโฉนดที่ดินได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน