คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 437/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและกำหนดประเด็นหน้าที่นำสืบ โดยมิได้กำหนดประเด็นค่าเสียหายไว้ ซึ่งเป็นการกำหนดประเด็นหน้าที่นำสืบขาดตกบกพร่อง เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของตนโดยการคัดค้านหรือโต้แย้ง เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งทักท้วงประเด็นและหน้าที่นำสืบก็ต้องเป็นไปตามที่ศาลกำหนด
การที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นเรื่องค่าเสียหายไว้แต่กลับพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเกี่ยวกับค่าเสียหายให้ จึงเป็นการวินิจฉัยคดีนอกประเด็นที่กำหนดไว้ไม่ชอบด้วยมาตรา 183 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และแม้ปัญหาข้อนี้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างอิงในฎีกาและมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายสุพลจำนองที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์ ระหว่างจำนองจำเลยโดยความยินยอมของนายสุพลได้ปลูกสร้างอาคารคอนกรีต 2 คูหา ลงในที่ดินพิพาทและจำเลยอาศัยอยู่ในอาคารดังกล่าว ต่อมาโจทก์ฟ้องบังคับจำนองที่พิพาท คดีถึงที่สุด ที่ดินพิพาทตกเป็นของโจทก์ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป จำเลยเกี่ยงให้โจทก์ใช้ราคาอาคารสิ่งปลูกสร้างด้วยจำนวนเงินสูงเป็นการโก่งราคา โจทก์ยอมชดใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่ากับราคาก่อสร้างเดิมเป็นเงิน 50,000 บาท และบอกกล่าวเลิกการให้อาศัยแล้ว จำเลยเพิกเฉยเป็นการละเมิด โจทก์ต้องเสียหายเดือนละ 500 บาท นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม2519 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับคำปฏิเสธของจำเลย ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท พร้อมทั้งรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างออกไปและทำที่ดินให้คืนสภาพเดิม หากจำเลยไม่รื้อถอน ให้จำเลยรับเงินค่าแห่งที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้นเพราะการปลูกสร้างอาคาร 50,000 บาทจากโจทก์ และให้อาคารเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500 บาทนับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2519 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะเลิกละเมิดตามฟ้อง

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่พิพาทอยู่ติดกับที่ดินของจำเลย จำเลยได้ซื้อที่พิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจากนางนิตยาภรรยานายสุพลราคา 100,000 บาท คนทั้งสองอนุญาตให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมออกและให้จำเลยปลูกสร้างตึกแถวขึ้นใหม่รวม 3 คูหาลงในที่พิพาทและในที่ดินของจำเลยซึ่งอยู่ติดต่อกัน ต่อมาจำเลยขายตึกแถวไป 1 คูหาเป็นเงิน 185,000 บาท ส่วนตึกแถวอีก 2 คูหาในที่พิพาทค่าปลูกสร้างเป็นเงิน 410,000 บาท และปลูกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยเป็นเนื้อที่กว้าง 1 เมตร ยาว 19 เมตร ซึ่งมีราคา 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 420,000 บาท จำเลยไม่ได้ขออาศัยปลูกตึกแถวไม่ได้ละเมิดสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้พิพากษายกฟ้องและบังคับให้โจทก์ใช้ค่าที่พิพาทที่เพิ่มขึ้นกับใช้ราคาที่ดินของจำเลยรวมเป็นเงิน 420,000 บาท ให้จำเลยตามฟ้องแย้ง หรือมิฉะนั้นขอให้โจทก์ขายที่พิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยรื้อถอนไปให้จำเลยในราคา 80,000 บาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารในที่พิพาทโดยอาศัยผู้จำนอง เมื่อโจทก์บอกกล่าวเลิกการให้อาศัย จำเลยไม่ยอมออกไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง อาคาร 2 คูหาในที่พิพาทราคา 410,000 บาท เกินความเป็นจริงราคาที่แท้จริงไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท และไม่เกินกว่า 60,000 บาท ที่จำเลยอ้างว่าขายอาคาร 1 คูหา ราคา 185,000 บาท ก็ไม่เป็นความจริง โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาตามมูลหนี้ 150,000 บาท หากจะขายในขณะนี้ราคาไม่น้อยกว่า 300,000 บาท ไม่ใช่ราคา 80,000 บาท ดังที่จำเลยอ้าง เมื่อจำเลยไม่อาจรื้อถอนอาคารออกไป โจทก์ขอรับเอาโดยคิดค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างอาคารให้แก่จำเลย 50,000 บาท กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 ที่กำหนดเปิดช่องให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินแต่ฝ่ายเดียวที่จะเรียกให้จำเลยผู้ปลูกสร้างอาคารเป็นผู้ซื้อที่ดินในราคาตลาดไม่น้อยกว่า300,000 บาท จำเลยไม่มีสิทธิขอให้ศาลบังคับโจทก์ขายที่พิพาทให้จำเลยขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นว่า

1. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่

2. โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทหรือไม่

3. โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ และ

4. โจทก์จะต้องรับซื้อตึกของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่พิพาทหรือไม่เพียงใด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกแถวซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินพิพาทโฉนดที่ 237 ของโจทก์ โดยให้โจทก์ชดใช้ค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้แก่จำเลยเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท กับให้โจทก์ชดใช้ค่าที่ดินซึ่งตึกแถวดังกล่าวปลูกคร่อมที่ดินจำเลยแก่จำเลยเป็นเงิน 10,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น110,000 บาท แล้วให้ตึกแถวและที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 500 บาท นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม2519 จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากตึกแถวข้างต้น ให้ยกฟ้องในส่วนที่ศาลไม่พิพากษาให้

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ชดใช้ค่าแห่งที่พิพาทที่เพิ่มขึ้นเพราะจำเลยปลูกสร้างตึกแถว 2 คูหา เป็นเงินจำนวน 100,000 บาทนั้น เห็นว่า เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ พิเคราะห์แล้วตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2519 ศาลชั้นต้นได้ทำการชี้สองสถานและกำหนดประเด็นหน้าที่นำสืบ โดยมิได้กำหนดประเด็นค่าเสียหายไว้ ซึ่งเป็นการกำหนดประเด็นหน้าที่นำสืบขาดตกบกพร่อง ดังนี้ หากศาลกำหนดประเด็นหน้าที่นำสืบคลาดเคลื่อนหรือขาดตกบกพร่อง ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของตน โดยการคัดค้านหรือโต้แย้งทักท้วงให้ศาลแก้ไขเสียให้ถูกต้อง เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งทักท้วง ประเด็นและหน้าที่นำสืบก็ต้องเป็นไปตามที่ศาลกำหนดไว้ การที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นหน้าที่นำสืบค่าเสียหายไว้แต่พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเกี่ยวกับค่าเสียหายไปเช่นนี้ เป็นการวินิจฉัยคดีนอกประเด็นที่ศาลกำหนดไว้ไม่ชอบด้วยมาตรา 183 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แม้ปัญหานี้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างอิงในฎีกาและมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ จำเลยจึงไม่ต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

ที่จำเลยฎีกาว่าค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นต้นควรให้เป็นพับไปทั้งสองฝ่ายจึงจะชอบตามรูปคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำ

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share