แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ม.ระหว่างโจทก์เป็นทายาทของ ม. โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทจำต้องไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแทนจำเลยทั้งสอง จึงขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินคืนโจทก์ ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของการรับช่วงสิทธิ คำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว โดยโจทก์ไม่ต้องบรรยายว่าเงินที่นำไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทเป็นเงินของใคร เพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
สัญญาจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับธนาคาร ก.ไม่มีการเพิกถอน คงเพิกถอนเฉพาะการยกให้และการซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้นและตามสัญญาจำนองมีความว่า ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวข้างต้นทั้งแปลงแก่ผู้รับจำนอง เพื่อเป็นประกันหนี้การกู้เบิกเงินเกินบัญชีและหรือหนี้สินอื่น ๆทุกประเภทของจำเลยที่ 2 และหรือของผู้จำนองทั้งที่มีอยู่แล้วในขณะนี้หรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าอันจะพึงมีต่อธนาคาร ก.เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท จากข้อความในเอกสารดังกล่าวเป็นลักษณะที่จำเลยที่ 1 จำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 ด้วย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 709
เมื่อสัญญาจำนองที่ดินพิพาทไม่มีการเพิกถอนก็ต้องถือว่าเป็นสัญญาจำนองที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ม.จะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ม.เพราะอาจถูกธนาคาร ก.ผู้รับจำนองบังคับยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงใช้หนี้ตามสัญญาจำนองแทนจำเลยทั้งสองจนเป็นที่พอใจของธนาคาร ก.เจ้าหนี้โดยได้มีการไถ่ถอนจำนองแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้บังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 230 หาใช่เรื่องจัดการงานนอกสั่งหรือลาภมิควรได้ไม่ แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าที่โจทก์ชำระหนี้แก่ธนาคารดังกล่าวไปนั้นเป็นการขืนใจลูกหนี้ก็ตาม ในเมื่อโจทก์เป็นบุคคลภายนอกได้ชำระหนี้นั้นอันเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ยอมไถ่ถอนจำนอง และหากไม่มีการไถ่ถอนจำนองโจทก์ก็ย่อมเสียสิทธิในที่ดินพิพาทไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากธนาคาร ก.ผู้รับจำนองมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสอง ซึ่งโจทก์ก็ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ได้ในนามของตนเองเมื่อหนี้เดิมธนาคาร ก.ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 189 เดิม(193/27 ที่แก้ไขใหม่)