แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การทำสัญญาประกันอันเนื่องมาจากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันบัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 112 ส่วนการบังคับในกรณีมีการผิดสัญญาประกันบัญญัติไว้ในมาตรา 119 จึงถือได้ว่า การบังคับตามสัญญาประกันเป็นเรื่องของกระบวนพิจารณาทางอาญาโดยแท้ การพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ที่ทำสัญญาประกันต่อศาลจึงต้องพิจารณาจากบริบทของคดีอาญาเป็นสำคัญ โดยในคดีอาญานั้น ผู้ประกันซึ่งทำสัญญาประกันว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลมีหน้าที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมามอบต่อศาลตามกำหนดหรือตามที่ศาลมีหมายเรียก ซึ่งหากผิดสัญญาก็มิใช่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสียหายภายในวงเงินตามสัญญาประกันเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมทางศาลด้วย และตราบใดที่ผู้ประกันยังไม่ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลก็ต้องถือว่ายังคงผิดสัญญาประกันที่ทำไว้ต่อศาลอยู่ตราบนั้น แต่หากผู้ประกันขวนขวายได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาภายในอายุความทางอาญา ศาลในคดีนั้น ๆ ก็ยังอาจลดค่าปรับลงได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีแม้จะส่งมอบ ตัวเกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับนายประกันก็ตาม เมื่อผู้ประกันในคดีอาญาต่าง ๆ รวมทั้งผู้ประกันในคดีนี้มีสิทธิและหน้าที่ดังเช่นที่กล่าวมา ผู้ร้องในคดีนี้จึงชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งของศาลที่สั่งปรับผู้ประกันได้ แม้จะเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกัน เมื่อผู้ร้องยังคงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ผู้ประกันได้ก็หาจำต้องร้องขอขยายระยะเวลาในการบังคับคดีไม่ กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาของผู้ประกันว่ากรณีมีเหตุสุดวิสัยที่จะขยายระยะเวลาให้แก่ผู้ร้องหรือไม่
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย ต่อมาผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยตามกำหนดนัด วันที่ 24 มกราคม 2538 ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกัน ต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลแขวงพระนครเหนือ โดยนางสาวศลิตา นิติกร ทำรายงานเจ้าหน้าที่เสนอต่อศาลชั้นต้นอ้างว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นส่งคำบังคับให้ผู้ประกันแล้ว แต่ผู้ประกันไม่ชำระค่าปรับ ประกอบกับมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคสอง มีผลให้การบังคับเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศาล และหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามสัญญาประกัน ทำให้ต้องดำเนินการตรวจสอบสำนวนคดีที่อยู่ในระหว่างดำเนินการบังคับคดีทั้งหมด ซึ่งปรากฏว่ามีสำนวนที่ค้างบังคับคดีที่กรมบังคับคดีเป็นจำนวนมาก จึงต้องรีบดำเนินการกับสำนวนที่ค้นหาพบไปพลางก่อน คดีนี้ครบกำหนดระยะเวลาในการบังคับคดีภายใน 10 ปี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 ขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีไปจนถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีมีเหตุสุดวิสัย อนุญาตให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีผู้ประกันออกไปจนถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558
วันที่ 31 มกราคม 2557 ผู้ประกันยื่นคำร้องว่า คำร้องขอขยายระยะเวลา ในการบังคับคดีไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีออกไปมีกำหนด 10 ปี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเพิกถอน
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2538 ผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกัน วันที่ 14 พฤษภาคม 2547 ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้ผู้ประกันชำระค่าปรับภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับ แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้รับแจ้งผลการส่งหมายจากศาลจังหวัดร้อยเอ็ดที่ส่งคำบังคับแทนให้แก่ผู้ประกัน คดีครบกำหนดระยะเวลาการบังคับคดีสิบปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ในวันที่ 24 มกราคม 2548 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ประกันว่า การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งรายงานเจ้าหน้าที่ของผู้ร้องที่ขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยผู้ประกันฎีกาว่า ผู้ร้องยื่นรายงานเจ้าหน้าที่ต่อศาลชั้นต้นเมื่อระยะเวลาการบังคับคดีขาดอายุความไปแล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องเสนอรายงานเจ้าหน้าที่ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อขอขยายระยะเวลาการบังคับคดี อันเป็นการขอขยายระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แม้สิ้นระยะเวลาการบังคับคดีแล้วก็ตาม ผู้ร้องก็มีอำนาจรายงานต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ได้ การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งรายงานเจ้าหน้าที่ของผู้ร้องที่ขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของผู้ประกันข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับที่ผู้ประกันฎีกาว่า เหตุตามคำร้องของผู้ร้องไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดี นั้น เห็นว่า การทำสัญญาประกันอันเนื่องมาจากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112 ส่วนการบังคับในกรณีมีการผิดสัญญาประกันบัญญัติไว้ในมาตรา 119 จึงถือได้ว่า การบังคับตามสัญญาประกันเป็นเรื่องของกระบวนพิจารณาทางอาญาโดยแท้ การพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ที่ทำสัญญาประกันต่อศาลจึงต้องพิจารณาจากบริบทของคดีอาญาเป็นสำคัญ โดยในคดีอาญานั้น ผู้ประกันซึ่งทำสัญญาประกันว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลมีหน้าที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมามอบต่อศาลตามกำหนดหรือตามที่ศาลมีหมายเรียก ซึ่งหากผิดสัญญาก็มิใช่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสียหายภายในวงเงินตามสัญญาประกันเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมทางศาลด้วย และตราบใดที่ผู้ประกันยังไม่ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลก็ต้องถือว่ายังคงผิดสัญญาประกันที่ทำไว้ต่อศาลอยู่ตราบนั้น แต่หากผู้ประกันขวนขวายได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาภายในอายุความทางอาญา ศาลในคดีนั้น ๆ ก็ยังอาจลดค่าปรับลงได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีแม้จะส่งมอบตัวเกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับนายประกันก็ตาม เมื่อผู้ประกันในคดีอาญาต่าง ๆ รวมทั้งผู้ประกันในคดีนี้มีสิทธิและหน้าที่ดังเช่นที่กล่าวมา ผู้ร้องในคดีนี้จึงชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งของศาลที่สั่งปรับผู้ประกันได้ แม้จะเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกัน เมื่อผู้ร้องยังคงมีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ผู้ประกันได้ก็หาจำต้องร้องขอขยายระยะเวลาในการบังคับคดีไม่ กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาของผู้ประกันว่ากรณีมีเหตุสุดวิสัยที่จะขยายระยะเวลาให้แก่ผู้ร้องหรือไม่
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ยกอุทธรณ์ของผู้ประกัน ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาของผู้ประกัน กับให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสียด้วย