คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4352/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ติดต่อกับจำเลยและเจ้าของที่ดินทั้ง 4 แปลง เรื่องการเช่าและซื้อขายที่ดินดังกล่าว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เจรจาติดต่อกันนั้นได้ใช้บ้าน ร. มารดาจำเลยเป็นสถานที่นัดพบเสมอทั้ง ร. ก็ร่วมเจรจาอยู่ด้วย แม้บางครั้งจำเลยไม่มาแต่ ร. ก็เป็นผู้จัดการแทนจำเลยเพื่อนำไปสู่การทำสัญญาในที่สุด ดังนั้น ข้อตกลงใด ๆ ที่อยู่ในกรอบของการเช่าหรือซื้อขายที่ดินของจำเลยย่อมเห็นเป็นปริยายว่าจำเลยได้เชิด ร. เป็นตัวแทนในการเจรจาตกลงกับโจทก์ ทำให้เจ้าของที่ดินอีก 4 แปลง ตกลงยินยอมให้เช่าและขายที่ดินเรื่องค่านายหน้าก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงด้วยแม้มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือก็มีผลผูกพันจำเลยแล้ว ดังนั้น จำเลยต้องให้ค่านายหน้า และเงินค่าที่ดินที่ให้เช่าหรือขายเกินกว่าราคาที่กำหนดแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 445,400 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 429,302 บาท

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 429,302 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2538เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (30 มกราคม 2540) (ที่ถูกคือ 30มกราคม 2539) ต้องไม่เกิน 16,098 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมบริษัทคอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของจำเลยกับเจ้าของที่ดินข้างเคียงอีก 4 แปลง เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ต่อมาจำเลยกับเจ้าของที่ดินข้างเคียงดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงจากการจดทะเบียนการเช่ามาเป็นการขายที่ดิน ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้ตกลงให้ค่านายหน้าโจทก์ในการชี้ช่องให้จำเลยกับบริษัทคอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำนิติกรรมเช่าและซื้อขายที่ดินของจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของพยานทั้งสองฝ่ายว่า โจทก์เป็นผู้ชี้ช่องให้บริษัทคอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด กับจำเลยและเจ้าของที่ดินอีก 4 แปลงได้เข้าทำสัญญาเช่าและซื้อขายที่ดินเป็นผลสำเร็จ ปัญหาที่โต้เถียงกันอยู่ว่า จำเลยหรือนางริดมารดาจำเลยตกลงยินยอมให้ค่านายหน้าแก่โจทก์ในการนี้หรือไม่ โดยโจทก์นายเรียนและนายสำราญเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยกับเจ้าของที่ดินอีก4 แปลง ยอมให้ค่านายหน้าโจทก์อัตราร้อยละ 5 ของราคาที่ดินที่ขาย และหากขายเกินกว่าราคาที่กำหนดไว้ก็ให้ส่วนที่เกินตกเป็นของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนที่บริษัทคอนอโค(ประเทศไทย) จำกัด จะเข้าทำสัญญาเช่าหรือซื้อที่ดินดังกล่าว โจทก์ นายเรียนและนายสำราญได้มีการพบปะเจรจากับจำเลยและเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่บ้านนางริดมารดาจำเลยมาครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งสอดคล้องต้องกับคำเบิกความของจำเลยว่า วันดังกล่าวโจทก์ได้พูดถึงเรื่องค่านายหน้าเพียงแต่จำเลยไม่ตกลงด้วย ส่วนครั้งที่ 2 โจทก์ นายเรียนและนายสำราญได้พบกับฝ่ายเจ้าของที่ดินที่บ้านนางริดได้ทำสัญญานายหน้า แต่จำเลยไม่มาซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยได้มอบให้นางริดมารดาจำเลยเป็นผู้เจรจาแทน จึงได้ทำสัญญานายหน้าให้เจ้าของที่ดินลงลายมือชื่อในสัญญาเนื่องจากนางริดเขียนหนังสือไม่ได้ จึงไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญานายหน้า และครั้งที่ 3 โจทก์กับฝ่ายบริษัทคอนอโค(ประเทศไทย) จำกัด มาพบกับเจ้าของที่ดินอีก เจ้าของที่ดินได้นำนายฟิลลิปผู้จัดการบริษัทคอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด ไปดูที่ดินและเตรียมจะวางมัดจำกับทำสัญญา แต่มีเหตุขัดข้องทางเอกสาร จึงต้องเลื่อนนัดออกไป ดังนี้ เห็นได้ว่าโจทก์เป็นคนกลางในการจัดให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้พบปะ โจทก์มีความมุ่งหมายที่จะได้ค่านายหน้าเป็นสำคัญ หากไม่ได้ค่านายหน้าตอบแทนเป็นผลประโยชน์แล้วการดำเนินการใด ๆ ที่ผ่านมา ตลอดทั้งการเช่าและซื้อขายที่ดินอาจจะไม่เกิดขึ้น เรื่องค่านายหน้าจึงเป็นข้อที่ต้องตกลงกับเจ้าของที่ดินทุกคนเป็นสำคัญ เมื่อได้ข้อสรุปเรื่องที่ดินและเรื่องค่านายหน้าแล้ว นายสำราญบุตรเขยของโจทก์จึงยอมนำเรื่องที่ดินดังกล่าวเสนอให้บริษัทคอนอโค (ประเทศไทย) จำกัดพิจารณา จนในที่สุดจำเลยและเจ้าของที่ดินอีก 4 แปลง ได้ตกลงให้เช่าและขายที่ดินทั้งหมดไปพร้อมกันทีเดียว ที่จำเลยอ้างว่าไม่เคยตกลงให้ค่านายหน้ากับโจทก์นั้น เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่โจทก์ได้ติดต่อกับจำเลยและเจ้าของที่ดินทั้ง 4 แปลงและตลอดระยะเวลาที่เจรจาติดต่อกันนั้นก็ใช้บ้านนางริดมารดาจำเลยเป็นสถานที่นัดพบเสมอมา ทั้งนางริดมารดาจำเลยก็ร่วมเจรจาอยู่ด้วย แม้บางครั้งจำเลยไม่ได้มาแต่นางริดมารดาจำเลยก็เป็นผู้จัดการแทนจำเลยเพื่อนำไปสู่การทำสัญญาในที่สุด ดังนั้น ข้อตกลงใด ๆ ที่อยู่ในกรอบของการเช่าหรือซื้อขายที่ดินของจำเลยย่อมเห็นเป็นปริยายว่าจำเลยได้เชิดนางริดมารดาเป็นตัวแทนในการเจรจาตกลงกับโจทก์ดังกล่าว ทำให้เจ้าของที่ดินอีก4 แปลง ตกลงยินยอมให้เช่าและขายที่ดิน เรื่องค่านายหน้าก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงด้วย แม้มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือก็มีผลผูกพันจำเลยแล้ว ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีเหตุผลและน่าเชื่อถือยิ่งกว่าพยานจำเลย รับฟังได้ว่าจำเลยตกลงยินยอมให้ค่านายหน้าแก่โจทก์และตกลงให้เงินค่าที่ดินที่ให้เช่าหรือขายเกินกว่าราคาที่กำหนดตกเป็นของโจทก์ ส่วนที่บริษัทคอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด กำหนดเงื่อนไขไม่ให้นายสำราญนายหน้าฝ่ายของบริษัทคอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด รับประโยชน์หรือค่านายหน้าจากเจ้าของที่ดินโดยบริษัทคอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด จะให้ค่านายหน้านายสำราญหรือค่าใช้จ่ายแทนนั้น เป็นเรื่องเฉพาะระหว่างบริษัทคอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด กับนายสำราญส่วนค่านายหน้าระหว่างโจทก์กับจำเลยก็เป็นข้อตกลงอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share