คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 435/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกนอกเส้นทางหลบไปที่อื่นเพื่อประสงค์จะลักโทรทัศน์สีของผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมีหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกขนส่งและลักเอาโทรทัศน์สีที่บรรทุกอยู่บนรถนั้นเอง การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ,83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 13 และให้จำเลยคืนโทรทัศน์ที่ลักไปหรือใช้ราคา 95,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) วรรคสอง, 336 ทวิ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 13จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงลงโทษจำคุก 4 ปี และให้จำเลยคืนโทรทัศน์สีที่ลักไปหรือใช้ราคาจำนวน 95,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7)(11) วรรคสาม จำคุก 4 ปีลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่าจำเลยกระทำผิดประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 ทวิ ด้วย
จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำผิด โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกโทรทัศน์สีของบริษัทแซมโป้คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้เสียหาย จำนวน 108 เครื่องจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปยังโกดังเก็บสินค้าของผู้เสียหายระหว่างทางโทรทัศน์สีได้หายไปจำนวน 19 เครื่อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายจรัญ หอมเทียนทอง นายบุญพา วาสนาพาโชคและนางทิ้ง ทองอ้ม เบิกความเป็นพยาน โดยนายจรัญผู้ตรวจปล่อยสินค้าจากโกดังการท่าเรือแห่งประเทศไทยเบิกความยืนยันว่าโทรทัศน์สีของผู้เสียหายที่นำออกจากโกดังขึ้นรถบรรทุกที่จำเลยขับในเที่ยวที่เกิดเหตุมีจำนวนครบถ้วนถูกต้องนายบุญพา ผู้ควบคุมการส่งสินค้าเบิกความว่า เมื่อขนโทรทัศน์สีขึ้นรถยนต์บรรทุกจำนวน 10 คันรวมทั้งคันที่จำเลยขับด้วยแล้วเป็นเวลาระหว่าง 16.30 – 19 นาฬิกาซึ่งห้ามรถยนต์บรรทุกแล่น รถทุกคันจะต้องจอดรวมกันอยู่ที่บริเวณโรงพักสินค้าขององค์การ ร.ส.พ. และที่สถานีตรวจสอบปล่อยสินค้าแต่คงจอดรอเวลาเพียง 9 คัน ส่วนคันที่จำเลยขับไม่ทราบว่าไปไหนพอถึงเวลา 19 นาฬิการถที่จอดอยู่ 9 คันได้ขับตามกันไปยังโกดังของผู้เสียหาย ต่อมาหลังจากขนสินค้าลงจากรถทั้ง 9 คันแล้ว จำเลยจึงขับรถมาถึงเมื่อเวลาประมาณ 19.45 นาฬิกาซึ่งเป็นเวลานานผิดปกตินายทิ้งหัวหน้าโกดังเบิกความว่า โทรทัศน์สีบรรจุอยู่ในกล่องวางเรียงกันอยู่บนรถที่จำเลยขับ โดยไม่มีผ้าใบคลุม เมื่อนำลงจากรถปรากฏว่ากล่องโทรทัศน์สีจำนวน 19 กล่อง ไม่มีโทรทัศน์บรรจุอยู่ ด้านล่างของกล่องมีรอยมีดกรีด และปิดด้วยกระดาษกาวใสสีไม่เหมือนเดิม ภายในกล่องมีเศษหินบรรจุอยู่ สอบถามจำเลยแล้วจำเลยบอกว่าไม่รู้เรื่องของหาย เสร็จแล้วแจ้งใหม่ว่าถูกคนร้ายจี้เอาโทรทัศน์สีจำนวน 19 เครื่องไป พยานโจทก์ดังกล่าวไม่รู้จักกับจำเลยและไม่เคยมีเรื่องอะไรกับจำเลยจึงเชื่อได้ว่าต่างเบิกความตามความเป็นจริงการที่จำเลยขับรถออกไปจากจุดที่กำหนดให้จอดรอเวลาห้ามรถยนต์บรรทุกแล่นเพียงคันเดียวโดยไม่มีใครทราบว่าขับไปทางไหน และกว่าจะขับไปถึงโกดังใช้เวลานานผิดปกติ โทรทัศน์สีทั้ง 19เครื่องหายไประหว่างอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยเช่นนี้ จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นคนลักเอาโทรทัศน์สีดังกล่าวไปเสียเอง นอกจากนี้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพโดยตลอดซึ่งโจทก์มีร้อยตำรวจโทขจรศักดิ์ สาลีรัตน์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและร้อยตำรวจเอกสุภัทรพงษ์ กิจนิธี พนักงานสอบสวนเบิกความรับรองว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจริงเมื่อพิจารณาคำให้การรับสารภาพดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.1และ จ.9 แล้ว ปรากฏว่าจำเลยให้การกล่าวถึงการกระทำโดยละเอียดและยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพด้วย ที่จำเลยนำสืบว่าให้การรับสารภาพเนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายทนไม่ได้นั้นจึงไม่น่าเชื่อ ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปจริงตามฟ้อง คดีนี้แม้จะได้ความว่า จำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกนอกเส้นทางหลบไปที่อื่นเพื่อประสงค์จะลักโทรทัศน์สีของผู้เสียหายก็ตามแต่เมื่อจำเลยมีหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกขนส่งและลักเอาโทรทัศน์สีที่บรรทุกอยู่บนรถนั้นเองการกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์จำเลยต่างฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share