แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองมิได้ทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย แต่จากการ สอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนได้ความว่าโจทก์ทั้งสองมีพฤติการณ์เป็นที่น่าสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริต ไม่น่าไว้วางใจ และมีมลทินมัวหมอง เป็นการพิจารณาถึงเหตุที่เลิกจ้างหย่อนลงไปจาก ข้ออ้างที่ว่าทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงว่าจำเลย จะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นไปตามผลการสอบสวน ซึ่งมีเหตุที่จำเลยจะไม่ไว้วางใจโจทก์ทั้งสองให้ทำงานกับจำเลยต่อไป แม้จะมิใช่ ความผิดร้ายแรง แต่ก็มีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
คำให้การของ อ. และโจทก์ที่ 1 ต่อคณะกรรมการสอบสวนเป็นการบอกเล่าข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการสอบสวนโดยไม่มีการลงนามหรือปฏิญาณตามแบบวิธีการเบิกความต่อศาลเป็นเพียงพยานบอกเล่า รับฟังได้เพียงประกอบคำเบิกความของตัวพยานซึ่งได้มาเบิกความต่อศาล เท่านั้นเมื่อ อ. และโจทก์ที่ 1 มาเบิกความต่อศาลศาลจึงต้องรับฟัง คำเบิกความของพยานทั้งสองอันเป็นประจักษ์พยานตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยทำหน้าที่ขับรถไขตู้ไปรษณีย์ เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๔ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยอ้างว่าทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยได้ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยให้จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองหรือให้รับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงาน หากไม่สามารถรับโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานได้ให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานของจำเลยประจำที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขพระโขนง โจทก์ทั้งสองถูกไล่ออกจากงาน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๓ เพราะกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่การงานและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยร่วมกันนำไปรษณียภัณฑ์ที่ได้จากไขตู้ไปรษณีย์นำไปให้นายอุดมทำการลอกตราไปรษณียากร แล้วนำไปจำหน่ายแก่ประชาชนโดยโจทก์ทั้งสองได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จำเลยตั้งคณะกรรมการทำการสอบสวนทางวินัยโจทก์ทั้งสอง จำเลยพิจารณาผลการสอบแล้วแล้วเห็นว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดตามข้อกล่าวหาจึงไล่โจทก์ทั้งสองออกจากงาน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหาย และไม่สามารถรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานต่อไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะมีพฤติการณ์เป็นที่น่าสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริต ไม่น่าไว้วางใจเพราะมีมลทินมัวหมอง ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานหรือใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้สอง แต่เมื่อยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๒๘,๖๘๐ บาทแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน ๑๖,๖๘๐ บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมิได้ทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย แต่จากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนก็ได้ความว่าโจทก์ทั้งสองมีพฤติการณ์เป็นที่น่าสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริต ไม่น่าไว้วางใจและมีมลทินมัวหมอง เป็นการที่ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาถึงเหตุที่เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองหย่อนลงไปจากข้ออ้างที่โจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงว่า จำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองหรือไม่ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
กรณีของโจทก์ทั้งสอง ปรากฏว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนด้วย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองก็เป็นไปตามผลการสอบสวนซึ่งมีเหตุอันสมควร จำเลยจึงมีสิทธิที่จะออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้ และเมื่อได้พิจารณาแล้วว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองนั้นมีเหตุที่จำเลยจะไม่ไว้วางใจโจทก์ทั้งสองให้ทำงานกับจำเลยต่อไป แม้จะมิใช่ความผิดที่ร้ายแรง ฉะนั้นการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ศาลจะต้องรับฟังบุคคลอันเป็นประจักษ์พยานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๕ คำให้การที่นายอุดมพยานจำเลย ได้ให้การไว้ต่อคณะกรรมการสอบสวนตามเอกสารหมาย ล.๒๙ และคำให้การของโจทก์ที่ ๑ ต่อคณะกรรมการสอบสวนตามเอกสารหมาย ล.๔ เป็นการบอกเล่าข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการสอบสวนโดยไม่มีการลงนามหรือปฏิญาณตามแบบวิธีการเบิกความต่อศศาล ซึ่งศาลจะรับฟังได้ก็เพียงประกอบคำเบิกความของตัวพยานซึ่งได้มาเบิกความต่อศาลจริง ๆ เท่านั้นในการดำเนินกระบวนพิจารณาปรากฏว่านายอุดมได้มาให้การต่อศาลในฐานะพยานจำเลย และโจทก์ที่ ๑ ก็ได้ให้การต่อศาลโดยอ้างตนเป็นพยาน ศาลจึงต้องรับฟังคำเบิกความของพยานทั้งสองตามที่ได้เบิกความต่อศาล ส่วนเอกสารหมาย ล.๒๙ และ ล.๔ นั้นเป็นเพียงพยานบอกเล่า
พิพากษายืน