คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4340/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น” เมื่อพิจารณาข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้ผู้ให้เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่อาจส่งมอบคืนได้ ผู้เช่าซื้อต้องชดใช้ราคาแทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของราคาเช่าซื้อ ในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ จึงย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อที่จะต้องคืนหรือใช้ราคารถในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันด้วยเหตุที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายด้วย สัญญาข้อดังกล่าวกำหนดบังคับให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี โดยไม่ได้แบ่งแยกความรับผิดกรณีเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ และกรณีไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อไว้ต่างหากจากกัน จึงเป็นการได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดให้ข้อตกลงในสัญญาที่ทำให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นโมฆะ เพียงแต่ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะ เพียงแต่ศาลมีอำนาจกำหนดให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ราคาแทนเป็นจำนวนพอสมควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 480,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนสัญญาเลิกกัน 62,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เป็นเงินจำนวน 24,900 บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 8,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องให้เรียกบริษัทเอราวัณประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขอนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยร่วมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 480,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 พฤษภาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2549 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วหมายเลขทะเบียน วบ 3362 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 625,065.60 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 60 งวด งวดละเดือน เดือนละ 10,417.76 บาท ชำระงวดแรกวันที่ 5 ตุลาคม 2549 งวดต่อๆ ไปภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ ตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้เอาประกันรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้กับจำเลยร่วม ตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 1 รับมอบรถยนต์ไปจากโจทก์แล้วและต่อมาได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียง 10 งวด ชำระงวดสุดท้ายวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 รวมเป็นเงิน 104,177.60 บาท ตามรายละเอียดบัญชีลูกหนี้ วันที่ 23 กรกฎาคม 2550 รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อสูญหายเนื่องจากถูกลักไป ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์อีกโดยผิดนัดตั้งแต่งวดวันที่ 5 สิงหาคม 2550 เป็นต้นไปติดต่อกัน 3 งวด โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันภายใน 30 วัน แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาและใบตอบรับ ตามสัญญาเช่าซื้อ กำหนดว่า “เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ว่าด้วยเหตุใด ผู้เช่าซื้อสัญญาว่า 14.1 ผู้เช่าซื้อจะต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่ยอมส่งมอบคืนหรือส่งมอบคืนไม่ได้ ให้ชดใช้ราคาแทนแก่เจ้าของเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของราคาเช่าซื้อ” คดีสำหรับจำเลยร่วมศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและคดียุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า ข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 14.1 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และเป็นข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงไม่ชอบและไม่สามารถบังคับได้หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง สำหรับพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น” เมื่อพิจารณาข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 14.1 ดังกล่าว กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้ผู้ให้เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่อาจส่งมอบคืนได้ ผู้เช่าซื้อต้องชดใช้ราคาแทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของราคาเช่าซื้อ ในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ จึงย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อที่จะต้องคืนหรือใช้ราคารถในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันด้วยเหตุที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายด้วย สัญญาข้อดังกล่าวกำหนดบังคับให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี โดยไม่ได้แบ่งแยกความรับผิดกรณีเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ และกรณีไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อไว้ต่างหากจากกัน จึงเป็นการได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดให้ข้อตกลงในสัญญาที่ทำให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นโมฆะ เพียงแต่ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะ เพียงแต่ศาลมีอำนาจกำหนดให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ราคาแทนเป็นจำนวนพอสมควรได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยให้ชดใช้ราคาแทนสูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2550 รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อจากโจทก์ได้สูญหายเนื่องจากถูกคนร้ายลักไป สัญญาเช่าซื้อ จึงระงับ แต่ข้อสัญญาที่กำหนดไว้ตามข้อ 14.1 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ศาลมีอำนาจกำหนดให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ราคาแทนเป็นจำนวนพอสมควรได้ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว และศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ความสูญหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้ง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายโดยมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ส่วนการที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายนั้น แม้กรมธรรม์ประกันภัย จะระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ก็ตาม แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกที่มีสิทธิที่จะแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ก็ได้ เมื่อพิจารณาจากจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้ว 104,177.60 บาท ประกอบกับหากรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่สูญหายและจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบ 60 งวด โจทก์จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงิน 125,065.60 บาท คดีนี้โจทก์ได้รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 เพียง 10 งวด รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์เป็นเงิน 480,000 บาท จึงสูงเกินควร เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 104,000 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น อนึ่ง ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้โจทก์ดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 104,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 พฤษภาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share