แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้คำฟ้องโจทก์บรรยายแต่เพียงว่าเหตุเกิดที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่ได้ระบุตำบลเกิดเหตุให้ชัดเจน ก็ถือว่าคำฟ้องได้บรรยายถึงสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ แล้ว ทั้งจำเลยมิได้ต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น และรูปคดีเป็นที่เข้าใจว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว การที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดที่ตำบลอะไรนั้นจึงเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบให้ปรากฏในชั้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมีบทบัญญัติเพียง 11 มาตรา และมีเพียงมาตรา 4 มาตราเดียวที่บัญญัติการกระทำเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ส่วนมาตราอื่น ๆล้วนบัญญัติในเรื่องอื่น แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุเพียงชื่อกฎหมายไม่ได้ระบุมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดก็ตาม แต่ก็ได้บรรยายถึงการออกเช็คโดยมีลักษณะหรือการกระทำความผิดของจำเลยไว้ชัดแจ้งครบถ้วนตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงต่อสู้ จึงไม่อาจเป็นการกระทำความผิดตามมาตราอื่นได้อีก มีผลเท่ากับการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทั้งห้าสำนวนเป็นใจความว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุเทพเชียงใหม่ จำนวน 5 ฉบับ มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายหุ้นซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาเมื่อถึงกำหนดเรียกเก็บเงินตามเช็ค โจทก์นำเช็คทั้งห้าฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลเดียวกันว่าบัญชีปิดแล้วการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะออกเช็ค หรือถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่พอที่จะใช้เงินตามเช็ค หรือห้ามธนาคารใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต เหตุเกิดที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งห้าสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 รวม 5กระทง จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 10 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ทั้งห้าสำนวน
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกทั้งห้าสำนวน สำนวนละ 2 เดือน โดยไม่นับโทษติดต่อกัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาทั้งห้าสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า คำฟ้องชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)(6) หรือไม่จำเลยฎีกาว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)ในคำฟ้องให้ระบุเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ แต่ปรากฏว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายแต่เพียงว่า เหตุเกิดที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่ได้ระบุตำบลเกิดเหตุให้ชัดเจน อีกทั้ง มาตรา 158(6)บังคับให้คำขอท้ายฟ้องต้องระบุมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด แต่ปรากฏว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุแต่เพียงว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 โดยไม่ได้ระบุมาตรา 4 คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิด เห็นว่าในคำฟ้องของโจทก์ที่ระบุว่าเหตุเกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่นั้น ถือว่า คำฟ้องได้บรรยายถึงสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ แล้วเนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมิได้ต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นรูปคดีเป็นที่เข้าใจว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว การที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดที่ตำบลอะไรนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบให้ปรากฏในชั้นพิจารณา คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปมีว่าคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) ระบุว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี… (6) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด คดีนี้แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ระบุอ้างแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 โดยมิได้อ้างมาตรา 4 ไว้ด้วย แต่เมื่อพิเคราะห์พระราชบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่ามีบทบัญญัติไว้เพียง 11 มาตราและมีเพียงมาตรา 4 มาตราเดียวเท่านั้น ที่บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ส่วนมาตราอื่น ๆ ล้วนบัญญัติในเรื่องอื่นไม่ได้บัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิด ทั้งในคำฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายถึงการออกเช็คโดยมีลักษณะหรือการกระทำความผิดของจำเลยไว้ชัดแจ้งครบถ้วนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 ทั้งจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงต่อสู้ กรณีไม่อาจเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ในมาตราอื่นได้อีก นอกจากในมาตรา 4 ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้อ้างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง กับในคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงลักษณะหรือการกระทำความผิดของจำเลยไว้ครบถ้วนตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยจำเลยเข้าใจดีและไม่หลงต่อสู้ย่อมมีผลเท่ากับการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) แล้วคำฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน