คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4338/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำร้องขอแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งแม้จะไม่แก้ ศาลอุทธรณ์ก็สามารถอ่านเข้าใจและรู้ว่าถ้อยคำที่ขอแก้นั้นที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ฉะนั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะขอแก้หรือไม่ก็ได้การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้อุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาต จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชัยนาท แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้ประกอบธุรกิจด้วยตนเองในรูปบริษัทจำกัดอยู่ในท้องที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งธนบุรีโจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยที่1ต่อศาลแพ่งธนบุรีซึ่งเป็นศาลที่จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจอยู่ในเขตในขณะยื่นฟ้องได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 150.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารซิตี้แบงก์จำนวนเงิน 880,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้สลักหลังนำมาชำระหนี้เงินยืมโจทก์ โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงิน 955,000 บาทแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามหลายครั้ง จำเลยทั้งสองเพิกเฉยและหลบหนีเป็นการประวิงการชำระหนี้ มีพฤติการณ์เป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายต่อไป
จำเลยที่ 1 ให้การว่า มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดชัยนาทและมิได้ประกอบธุรกิจอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น (ศาลแพ่งธนบุรี)ในขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องหรือภายใน 1 ปี ก่อนหน้านั้น เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ แต่โจทก์ใช้วิธีการข่มขู่ให้จำเลยที่ 1 ออกเช็คให้จำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับอิสรภาพของนางนวพรรณ เกตุสิงห์ ภรรยาจำเลยที่ 1ซึ่งถูกโจทก์แจ้งจับมาที่สถานีตำรวจนครบางบางรักในข้อหาตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จำเลยที่ 2นำเสื้อผ้าเครื่องใช้ไปให้นางนวพรรณ ที่สถานีตำรวจ โจทก์ขอร้องจำเลยที่ 2 ให้ลงชื่อเป็นพยานในเช็ค จำเลยที่ 2 ลงชื่อไปโดยไม่ทราบว่าจะต้องรับผิด หากต้องรับผิดก็สามารถชำระหนี้ได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่ยื่นภายในกำหนด ไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นข้อแรกที่จะต้องวินิจฉัย คือข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 แก้ไขอุทธรณ์นั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ได้ขอแก้ถ้อยคำในอุทธรณ์จากคำว่า “เอกสารหมาย ล.1″เป็น “เอกสารหมาย ล.9” รวม 4 แห่ง ซึ่งแม้ไม่ขอแก้ ศาลอุทธรณ์ก็อ่านเข้าใจและรู้ว่าถ้อยคำที่ขอแก้นั้นที่ถูกคือ เอกสารหมาย ล.9มิได้ถือเป็นเหตุบกพร่องแต่อย่างใด ฉะนั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1จะขอแก้หรือไม่ก็ได้ การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้เมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยเหตุผลแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไข
ประเด็นข้อที่ 2 จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดชัยนาท ศาลแพ่งธนบุรีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นที่พิจารณาพิพากษาคดีนี้ จึงไม่มีเขตอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อนี้จำเลยที่ 1 มีสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.5 มาแสดงเป็นหลักฐานว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 1 ตำบลดอนกำ อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาทแต่ฝ่ายโจทก์ก็มีสำเนาคำขอจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทจำกัด 2 ชุดซึ่งนายทะเบียนส่งมาเป็นหลักฐานแสดงว่า จำเลยที่ 1 กับนางนวพรรณดอนโพธิ์งาม ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทดอนโพธิ์งาม จำกัด กับบริษัทนวทรัพย์ จำกัด ขึ้น เมื่อเดือนกันยายน 2523 และสิงหาคม 2526ตามลำดับเพื่อทำธุรกิจ โดยมีสำนักงานอยู่ที่อาคารเลขที่ 457/76ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครมีจำเลยที่ 1 กับนางนวพรรณเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 จำนวน 8 แผ่น พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 เองก็เบิกความยอมรับ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดชัยนาท แต่ได้ประกอบธุรกิจด้วยตนเองในรูปบริษัทจำกัดอยู่ในท้องที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งธนบุรี นอกจากนี้โจทก์มีสัญญาเช่าหมายเลขโทรศัพท์ เอกสารหมาย จ.6 ระบุชัดว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2531จำเลยที่ 1 ได้จัดการเช่าโทรศัพท์ จำนวน 2 เลขหมายให้แก่บริษัทดอนโพธิ์งาม จำกัด พฤติการณ์ส่อแสดงว่า ในวันที่ 13 มิถุนายน 2531อันเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 ยังคงดำเนินธุรกิจของบริษัทดอนโพธิ์งาม จำกัด อยู่ ณ ที่ตั้งบริษัท พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 150 บัญญัติว่า “การยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอให้ล้มละลาย ให้ยื่นต่อศาลซึ่งลูกหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตหรือประกอบธุรกิจอยู่ในเขตไม่ว่าด้วยตนเอง หรือโดยตัวแทน ในขณะที่ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอ หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น”การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งธนบุรี จึงเป็นการฟ้องต่อศาลที่จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจอยู่ในเขตในขณะยื่นคำฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรีได้นั้น ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน.

Share