คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4337/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เช่าซื้อไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาและตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญา ถือว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้อแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อชอบที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาเสียได้ตามสัญญาเช่าซื้อแต่ผู้ให้เช่าซื้อยังคงรับชำระหนี้ค่าเช่าซื้อต่อมา แสดงให้เห็นว่าผู้ให้เช่าซื้อมิได้ถือเอาข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสาระสำคัญ และไม่ถือว่าการไม่ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตรงตามเวลาและตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญานั้นเป็นการผิดสัญญาผู้ให้เช่าซื้อจะเลิกสัญญาได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้งวดที่ 13 สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันโดยโจทก์ไม่จำต้องบอกกล่าวจำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์แต่กลับครอบครองและใช้รถยนต์ของโจทก์โจทก์ยึดรถกลับคืนมาได้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2530 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 450,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1ผ่อนและค้างชำระค่าเช่าซื้อ แต่โจทก์ไม่ถือเอาข้อสัญญามาเป็นข้อปฏิบัติในการเลิกสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมส่งมอบทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และได้ยึดรถยนต์พิพาทกลับไป โจทก์ไม่เคยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ การที่โจทก์ยึดรถยนต์พิพาทดังกล่าวกลับคืนไปเป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 หากคืนไม่ได้ให้คืนค่าเช่าซื้อซึ่งได้หักค่าเช่าที่โจทก์ควรได้รับออกก่อนแล้ว เป็นเงิน 154,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2530เป็นต้นไป และขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยื่นคำให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาส่วนจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญา โจทก์จะฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ผู้ค้ำประกันรับผิดต่อโจทก์มิได้ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วนในงวดที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2528 โจทก์จึงไม่จำต้องส่งมอบทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยที่ 1 และมีสิทธิยึดรถยนต์พิพาทกลับคืนได้แม้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อคลาดเคลื่อนกำหนดเวลาตามที่ระบุไว้ในสัญญา โจทก์ก็มีสิทธิรับค่าเช่าซื้อไว้ โจทก์มิใช่ผู้ผิดสัญญาและมีอำนาจริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วทั้งสิ้นขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 โดยพลันและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ9,000 บาท นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 คำขอท้ายฟ้องแย้งข้ออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 โดยพลัน หากไม่ส่งมอบรถดังกล่าวให้โจทก์ใช้เงินเป็นจำนวน 154,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้ถูกต้องทุกเดือน โดยชำระหลังจากพ้นกำหนดเวลาชำระในบางงวดแล้วบ้างชำระไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่จะต้องชำระในบางงวดบ้าง แต่โจทก์ยอมรับชำระทุกครั้งโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทักท้วง เห็นว่า กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาและตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญา ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อแล้วโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาเสียได้ตามข้อ แห่งสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 แต่กลับปรากฏว่าโจทก์มิได้ถือเอาการไม่ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อให้ถูกต้องเช่นนั้นเป็นการผิดสัญญา กล่าวคือโจทก์ยังคงรับชำระหนี้ค่าเช่าซื้อต่อมา แสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้ถือเอาข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสาระสำคัญ และไม่ถือว่าการไม่ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตรงตามเวลาและตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญานั้นเป็นการผิดสัญญา โจทก์จะเลิกสัญญาได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 คือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรก่อน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในเวลาที่กำหนด โจทก์จึงจะเลิกสัญญาได้ แต่โจทก์หาได้บอกกล่าวเช่นนั้นไม่ จึงถือว่าสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทเลิกกันแล้วไม่ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้ส่งมอบทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จริง ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำรถยนต์พิพาทไปใช้แล่นในทางเดินรถได้ตามปกติ ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายจึงถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ
พิพากษายืน

Share