คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4334/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 ที่บัญญัติว่าห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เว้นแต่การมีไว้ในครอบครองในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการตามที่รัฐมนตรีจะอนุญาตเป็นหนังสือเฉพาะรายหรือเฉพาะกรณีที่เห็นสมควร การผลิต นำเข้าส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป ให้ถือว่าผลิตนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย นั้นเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีเฮโรอีนซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนักถึง 61.388 กรัม ไว้ในครอบครองจริงเช่นนี้จึงถือได้ว่าจำเลยมีเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว จำเลยจะฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1จำนวน 60 หลอด ปริมาณหนัก 61.388 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีและคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 67, 102 ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 17 กันยายนพ.ศ. 2522 ข้อ 1(1) ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ต่อมาจำเลยขอถอนคำให้การเดิมและขอให้การใหม่ว่าจำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองจริงแต่มิได้มีไว้เพื่อจำหน่าย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 67,102 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2522) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2522 ข้อ 1(1) ลงโทษจำคุก21 ปี คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกมีกำหนด 14 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66, 67 เป็นมาตรา 66 วรรคหนึ่งนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาว่า จำเลยมีเฮโรอีนของกลางไว้ในความครอบครอบเพื่อจำหน่ายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เว้นแต่การมีไว้ในครอบครองในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการตามที่รัฐมนตรีจะอนุญาตเป็นหนังสือเฉพาะรายหรือเฉพาะกรณีเห็นสมควร การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป ให้ถือว่าผลิต นำเข้าส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายมาตราดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีเฮโรอีนซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนักถึง 61.388 กรัม ไว้ในครอบครองจริงเช่นนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยมีเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้วจำเลยจะฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเพียงสถานเบานั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเฮโรอีนของกลางที่ยึดได้จากจำเลยมีจำนวนมากทั้งความผิดดังกล่าวเกี่ยวโยงกับความปลอดภัยของสาธารณชนและความมั่นคงของประเทศชาติโดยตรง ถือได้ว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดอัตราโทษที่ลงแก่จำเลยมานั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเป็นอย่างอื่น”
พิพากษายืน

Share