คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 894 ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยในเวลาใด ๆ ก็ได้ ด้วยการงดส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป ถ้าและได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปี ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยหรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย
เมื่อผู้เอาประกันภัยงดส่งเบี้ยประกันภัย ก็ต้องถือว่าบอกเลิกสัญญาประกันภัยแล้วนับแต่วันที่งดส่งเบี้ยประกันภัยเป็นต้นมา หาจำต้องบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ แม้เงื่อนไขแห่งกรมธรรม์จะระบุว่าหากผู้เอาประกันภัยกลับมาต่ออายุสัญญาใหม่ภายในกำหนดห้าปี เบี้ยประกันภัยที่ชำระไว้แล้วจะไม่ถูกริบ ก็กำหนดไว้ด้วยว่าการต่ออายุสัญญาต้องตรวจสุขภาพผู้เอาประกันภัยตามระเบียบ เมื่อผู้เอาประกันภัยมิได้กลับมาต่ออายุสัญญาจนกระทั่งผู้รับประกันภัยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิได้รับเพียงเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์เท่านั้น
เงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้เอาประกันภัยโดยเริ่มเฉลี่ยให้ทุกปีหลังจากเมื่อผู้เอาประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันภัยไว้ครบสองปีแล้ว ตามเงื่อนไขนี้หมายความว่าผู้รับประกันภัยจะจ่ายเงินปันผลให้เมื่อสัญญาประกันภัยยังมีอยู่ หากสัญญาประกันภัยเลิกกันแล้วผู้เอาประกันภัยหามีสิทธิได้รับเงินปันผลต่อไปไม่

ย่อยาว

คดีนี้นายบุนราสี เหมินทร ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า จำเลยซึ่งศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นหนี้ค่าประกันชีวิตและเงินปันผล เมื่อหักกลบลบหนี้เงินกู้ที่ผู้ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้จำเลยอยู่ 20,000 บาทแล้ว ขอรับชำระหนี้เป็นเงิน 73,828 บาท

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้มีสิทธิขอรับคืนเฉพาะเบี้ยประกันสะสมทรัพย์ 33,396 บาท แต่เจ้าหนี้ยังค้างชำระเงินกู้และดอกเบี้ยจำเลยอยู่ 40,404 บาท หักแล้วยังเป็นหนี้จำเลยก็ควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้เสียทั้งหมดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ฎีกา

ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายบุนราสีเจ้าหนี้เป็นผู้เอาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์อุปัทวเหตุและทุพพลภาพไว้กับบริษัทจำเลย แบบละ 100,000 บาท มีกำหนดเวลาประกัน 25 ปี ต้องชำระเบี้ยประกันเป็นราย 3 เดือน มีกำหนด 16 ปี เจ้าหนี้ได้ส่งเบี้ยประกันรวม 31 งวด เป็นเงินเฉพาะแบบสะสมทรัพย์ 48,391 บาท ต่อมาเจ้าหนี้ขัดข้องหมุนเงินไม่ทัน จึงงดส่งเบี้ยประกันตลอดมาจนจำเลยถูกกระทรวงเศรษฐการสั่งหยุดกิจการ และถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ได้รับเงินปันผลไปรวม 5 ครั้งเป็นเงิน 6,244 บาท และเจ้าหนี้ได้กู้เงินจำเลยไป 28,860 บาท ซึ่งเจ้าหนี้ขอหักกลบลบหนี้ออกจากเงินที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีนี้

เจ้าหนี้ฎีกาข้อแรกว่า การที่เจ้าหนี้ส่งเบี้ยประกัน ยังถือไม่ได้ว่าเจ้าหนี้บอกเลิกสัญญาประกันภัย เพราะมิได้บอกเลิกสัญญาประกันเป็นลายลักษณ์อักษรไปให้จำเลยทราบ เจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับเบี้ยประกันภัยจำนวน 48,391 ที่ส่งไปแล้วคืน

ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 894บัญญัติว่า ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ ด้วยการงดส่งเบี้ยประกันต่อไป ถ้าจะได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปีไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยหรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย มิได้บัญญัติว่าการบอกเลิกสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อได้ความว่าเจ้าหนี้งดส่งเบี้ยประกันตลอดมาก็ต้องถือว่าเจ้าหนี้บอกเลิกสัญญาประกันภัยแล้ว นับตั้งแต่วันที่งดส่งเบี้ยประกันภัยเป็นต้นมา ในกรณีนี้เจ้าหนี้ได้ส่งเบี้ยประกันภัยเกิน 3 ปี จึงชอบที่จะได้รับค่าเวนคืนกรมธรรม์ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งคำนวณได้ 33,396 บาท ไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประกันที่ส่งคืนเต็มจำนวน

ข้อที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า เจ้าหนี้ยังมีสิทธิจะต่ออายุสัญญาประกันภัยใหม่ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันกรมธรรม์ขาดอายุตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ข้อ 4 จำเลยจะริบเบี้ยประกันที่ชำระไว้แล้วไม่ได้นั้น

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามเงื่อนไขข้อนี้ จะต้องปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยได้กลับมาขอต่ออายุสัญญาใหม่ภายในกำหนดเวลา 5 ปี ซึ่งจะต้องมีการตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันใหม่ตามระเบียบว่าด้วยการต่ออายุสัญญา เบี้ยประกันที่ได้ชำระไว้แล้ว จึงจะถือว่าไม่ถูกริบแต่ไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้กลับไปขอต่ออายุสัญญาใหม่แต่ประการใด จนกระทั่งศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทจำเลย นอกจากเหตุดังกล่าวกรมธรรม์ประกันชีวิตของจำเลยยังระบุไว้ในข้อ 7 ว่า”ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยในเวลาใดก็ได้ โดยการไม่ชำระเบี้ยประกันภัยต่อไป และถ้าได้ชำระเบี้ยประกันภัยมาครบ 3 ปีแล้วโดยที่สัญญายังมีผลบังคับอยู่ ผู้เอาประกันชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยนั้นเป็นเงินสดตามที่แจ้งไว้เป็นมูลค่าแห่งกรมธรรม์” ฉะนั้นเมื่อฟังได้ว่าเจ้าหนี้ได้บอกเลิกสัญญาประกันภัยแล้วนับแต่วันที่งดชำระเบี้ยประกันภัยเป็นต้นมา เจ้าหนี้ก็ชอบที่จะได้รับเงินเวนคืนกรมธรรม์ ดังวินิจฉัยแล้วข้างต้นเท่านั้น

เจ้าหนี้ฎีกาข้อสุดท้ายว่า เจ้าหนี้มีสิทธิจะได้รับเงินปันผลจากเบี้ยประกัน48,391 บาท ที่ชำระไปแล้วในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับจากวันที่ 21 กันยายน 2504 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2504 รวม 5 ปี เป็นเงิน 18,146.60 บาท ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 12

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงื่อนไขข้อ 12 เพียงแต่ระบุว่า บริษัทจำเลยรับรองจะจ่ายเงินปันผลให้ โดยเริ่มเฉลี่ยเงินปันผลให้ทุกปีหลังจากเมื่อผู้เอาประกันได้ชำระเบี้ยประกันภัยไว้ครบ 2 ปี แล้วหรืออีกนัยหนึ่งก็คือจะเริ่มเฉลี่ยเงินปันผลให้ เริ่มต้นจากปีที่ 3 ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ต่อปี การที่เจ้าหนี้คิดเงินปันผลถึงร้อยละ 7 ครึ่งนั้น ไม่มีหลักฐานสนับสนุน เจ้าหนี้ได้ชำระเบี้ยประกันมา 7 ปี จึงมีสิทธิได้รับเงินปันผล 5 ปี ในอัตราร้อยละ4 ต่อปี ของจำนวนเบี้ยประกันที่ได้ชำระไว้เริ่มตั้งแต่ปีที่ 3 ถึงปีที่ 7 รวมเป็นเงิน 6,244 บาท ซึ่งเจ้าหนี้ได้รับไปครบถ้วนแล้ว โดยครั้งสุดท้ายรับไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2504 ต่อจากนั้นเจ้าหนี้ได้บอกเลิกสัญญาประกันภัยด้วยการงดส่งเบี้ยประกันภัยต่อไปจนกระทั่งบริษัทจำเลยถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย เมื่อสัญญาประกันภัยเลิกแล้ว เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลต่อไปอีกตามที่ฎีกามา

พิพากษายืน

Share