คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมีแผ่นวิดีโอซีดีแผ่นซีดีและแผ่นซีดีรอมของกลางไว้เพื่อขายและเสนอขายตามฟ้องข้อ (ก) และประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ตามฟ้องข้อ (ข)ในคราวเดียวกันแต่การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ(ก)และข้อ(ข)เป็นการกระทำโดยอาศัยเจตนาที่แยกต่างหากจากกันและเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับกัน จึงเป็นความผิดสองกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 1 บริษัทกระบือ แอนด์ โค จำกัด ผู้เสียหายที่ 2 บริษัทโฟร์เอส สตูดิโอ จำกัด ผู้เสียหายที่ 3บริษัทอาร์.เอส.โปรโมชั่น 1992 จำกัด ผู้เสียหายที่ 4 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่ประเทศไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์ ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์โดยเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุตามบัญชีรายชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่องานอันมีลิขสิทธิ์และวันเดือนปีที่โฆษณาครั้งแรกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ถึง 4 และได้มีการโฆษณางานครั้งแรกที่ประเทศไทย บริษัทโซนี่ มิวสิค เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ อิงค์ ผู้เสียหายที่ 5 บริษัทดับเบิ้ลยูอีเอ อินเตอร์เนชั่นแนลอิงค์ ผู้เสียหายที่ 6 บริษัทบีเอ็มจี มิวสิค จำกัด ผู้เสียหายที่ 7 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทโพลีแกรมอินเตอร์เนชั่นแนล มิวสิคบี.วี. ผู้เสียหายที่ 8 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่ประเทศราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ บริษัทอีเอ็มไอ เรคคอร์ด จำกัด ผู้เสียหายที่ 9 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่ประเทศสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ผู้เสียหายที่ 5 ถึงที่ 9 มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศที่ตนจดทะเบียนตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์ ซึ่งผู้เสียหายที่ 5 ถึงที่ 9 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์ โดยเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทสิ่งบันทึกเสียงและดนตรีกรรมตามบัญชีรายชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่องานอันมีลิขสิทธิ์ และวันเดือนปีที่โฆษณาครั้งแรกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5และได้มีการโฆษณางานครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์และประเทศสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย บริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ผู้เสียหายที่ 10 บริษัทอะโดบี้ ซิสเต็มส์ อินคอร์ปอเรทเต็ด ผู้เสียหายที่ 11 บริษัทไซแมนเทค คอร์ปอเรชั่น ผู้เสียหายที่ 12 บริษัทแอ็ปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ อิงค์ ผู้เสียหายที่ 13 บริษัทออโต้เดสค์ อิงค์ ผู้เสียหายที่ 14 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์ซึ่งผู้เสียหายที่ 10 ถึงที่ 14 ดังกล่าวเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์ โดยเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย การสร้างสรรค์รายการต่าง ๆ เป็นคำสั่ง ชุดคำสั่งภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถนำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือให้ได้รับผลเป็นรายการต่าง ๆ ตามที่ผู้สร้างสรรค์กำหนดได้แล้ว บันทึกลงในแผ่นซีดี บันทึกเสียงและภาพอันสามารถใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายที่ 10 ถึงที่ 14 ตามบัญชีรายชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่องานอันมีลิขสิทธิ์ และวันเดือนปีที่โฆษณาครั้งแรกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ถึง 10 และได้มีการโฆษณาครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ดังนั้นผู้เสียหายทั้งสิบสี่จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2543 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

(ก) จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงโสตทัศนวัสดุ วรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ของผู้เสียหายทั้งสิบสี่ โดยการนำเอาแผ่นวิดีโอซีดีคาราโอเกะ ซีดีเพลงซีดีรอมเพลงคาราโอเกะเอ็มพี 3 ซีดีรอมเพลงเอ็มพี 3และแผ่นซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่บันทึกงานของผู้เสียหายทั้งสิบสี่ตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งมีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสิบสี่ รวมจำนวน 409 แผ่นออกขายเสนอขาย มีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแผ่นวิดีโอซีดีคาราโอเกะ ซีดีเพลง ซีดีรอมเพลงคาราโอเกะเอ็มพี 3 ซีดีรอมเพลงเอ็มพี 3 และแผ่นซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสิบสี่ และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสิบสี่

(ข) จำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายแผ่นวิดีโอซีดี คาราโอเกะซีดีรอมเพลงคาราโอเกะเอ็มพี 3 ซีดีรอมเพลงเอ็มพี 3 และแผ่นซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อันเป็นเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจอยู่ที่ร้านยูเรก้า แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร และได้ประโยชน์ตอบแทนจากราคาจำหน่ายวิดีโอเทปดังกล่าวโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 30, 31, 61, 69, 70, 73, 75, 76พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 4, 6, 34พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 3, 14, 30, 31, 52ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91 โดยขอให้วางโทษเป็นสองเท่าและบวกโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.841/2542 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเข้ากับโทษคดีนี้ ให้แผ่นวิดีโอซีดีคาราโอเกะ ซีดีเพลง ซีดีรอมเพลงคาราโอเกะเอ็มพี 3 ซีดีรอมเพลงเอ็มพี 3 และซีดีรอมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (ที่ถูก 31(1)), 70 วรรคสองพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง,34 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (ที่ถูก 31(1)), 70 วรรคสอง ให้จำคุก2 ปี และปรับ 400,000 บาท จำเลยเคยต้องโทษตามคำพิพากษา (ในความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537) และพ้นโทษ (ปรับ) มาแล้วไม่เกิน 5 ปี กลับมากระทำความผิดคดีนี้อีก ต้องวางโทษเป็นสองเท่า ให้จำคุก 4 ปี และปรับ 800,000 บาทความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6วรรคหนึ่ง, 34 ให้ปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี (ที่ถูก 4 ปี) และปรับ 820,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี (ที่ถูก 2 ปี) และปรับ410,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดให้ริบจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของค่าปรับ (สำหรับความผิด) ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ส่วนที่โจทก์ขอให้บวกโทษจำเลยนั้น ให้ยกคำขอส่วนนี้ เนื่องจากคดีนี้ศาลไม่ได้ลงโทษจำคุกจำเลย (ที่ถูกรอการลงโทษจำคุกคดีนี้ให้จำเลย)

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”ตามอุทธรณ์ของจำเลยพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ 2 ประการ คือการกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ (ก) และข้อ (ข) เป็นความผิดกรรมเดียวกันประการหนึ่งกับขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษในระยะสั้นอีกประการหนึ่ง สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ (ก) และ ข้อ (ข) แม้จำเลยจะมีแผ่นวิดีโอซีดี แผ่นซีดีและแผ่นซีดีรอมของกลางไว้เพื่อขายและเสนอขายตามฟ้องข้อ (ก) และประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ตามฟ้องข้อ (ข) ในคราวเดียวกันดังที่จำเลยอุทธรณ์ แต่การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ (ก) และข้อ (ข) ก็เป็นการกระทำโดยอาศัยเจตนาที่แยกต่างหากจากกันและเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับกันการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรมดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างว่าเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้”

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ (ก) จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31(1), 70 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 73 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท ส่วนความผิดตามฟ้องข้อ (ข) จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 34 ให้ปรับ 10,000 บาท รวมเป็นจำคุก 1 ปี และปรับ 210,000 บาทเมื่อลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 105,000 บาท โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ตามกำหนดระยะเวลาเดิมและให้ยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนที่ให้ริบสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share