คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4314/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) และ (8) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) แต่เป็นการกระทำความผิดเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) วรรคแรก โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นปรับบทเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 เป็นการไม่ถูกต้อง และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่แก้ไขก็เป็นการไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335, 336 ทวิ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336, 83 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี จำเลยที่ 2 กระทำผิดในขณะที่อายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายรังสันต์ ศรีประวัติ ผู้เสียหาย แล้วลักเอาแม่แรงตะเข้จำนวน 1 อัน ราคา 1,400 บาท ถังแก๊สจำนวน 1 ถัง ราคา 500 บาท ปากกาสำหรับจับเหล็กจำนวน1 ตัว ราคา 1,000 บาท รอกสำหรับยกรถจำนวน 1 ตัว ราคา 2,000 บาท แม่แรงยกรถขนาดเล็กจำนวน 4 ตัว ราคา 200 บาท และปั๊มสูบน้ำจำนวน 2 ตัว ราคา 40 บาท ของผู้เสียหายกับเครื่องสูบน้ำจำนวน 1 เครื่อง ราคา 6,000 บาท ของนางมาลี ฉัตราภรณ์วิเชียร ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปโดยสุจริต โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป คดีนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายกับนางส้มจีน มีศิริ ซึ่งเป็นภริยาไม่อยู่บ้าน แต่มีนางกล่อม มีศิริ มารดาของนางส้มจีนเฝ้าบ้าน เมื่อพยานกลับมา นางกล่อมบอกว่าจำเลยทั้งสองมาเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นางกล่อมเบิกความว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะมาเอาสิ่งของของจำเลยที่ 1 พยานจึงว่าถ้าเป็นของจำเลยที่ 1 ก็เอาไป แต่หากไม่ใช่อย่าเอาไป นางส้มจีนเบิกความว่า หลังทราบเรื่องจากนางกล่อมพยานได้ไปปรึกษากับเจ้าพนักงานตำรวจและนำหมายเรียกไปที่บ้านจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 อ้างว่าทรัพย์สินที่เอาไปเป็นของจำเลยที่ 1 เอง เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับตัวมา จำเลยที่ 1 อ้างว่า เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานตำรวจจับตัวมา จำเลยที่ 2 มาด้วย เพราะอยู่ด้วยกัน สิบตำรวจเอกชำนาญ น้อยบุตร ผู้จับเบิกความว่า ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ร้อยตำรวจเอกเสริมส่ง อินทร์ประสงค์ พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะมาตามจำเลยที่ 2 ให้ไปช่วยขนอุปกรณ์ซ่อมรถของจำเลยที่ 1 ที่ผู้เสียหายยืมไป เห็นว่า ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดคงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการขนทรัพย์สินของผู้เสียหายเท่านั้น กรณีไม่มีพฤติการณ์แวดล้อมอันส่อเจตนาของจำเลยที่ 2 อย่างอื่นประกอบ จำเลยที่ 1 ใช้กลอุบายในการลักทรัพย์โดยอ้างต่อนางกล่อมว่าจะมาเอาสิ่งของของจำเลยที่ 1 เมื่อผู้เสียหายตามไปที่บ้านจำเลยที่ 1 อ้างว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของตนเอง แม้ถูกจับก็ยังคงอ้างว่าเป็นของตนเอง ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 1 มาตามให้ไปช่วยขนอุปกรณ์ซ่อมรถของจำเลยที่ 1 ที่ผู้เสียหายยืมไปจึงมีเหตุผลน่ารับฟัง ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อได้ทรัพย์สินไปแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองเพียงลำพังและเก็บไว้ในที่เปิดเผยในบ้านของจำเลยที่ 1 เองมิได้นำไปซุกซ่อนหรือนำไปจำหน่ายแบ่งเงินกัน อันจะส่อให้เห็นเจตนาทุจริตของจำเลยที่ 2 เมื่อถูกจับจำเลยที่ 2 ก็ให้การปฏิเสธในทันทีทั้งชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน กับได้ความจากคำของสิบตำรวจเอกชำนาญตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า จำเลยที่ 2 บอกว่าไม่รู้เรื่องด้วย จำเลยที่ 1 เป็นคนบอกให้ไปเอาของ ดังนี้ ลำพังเพียงพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ไปช่วยจำเลยที่ 1 ขนทรัพย์สินของผู้เสียหายดังกล่าวไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมลักทรัพย์กับจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) แต่เป็นการกระทำความผิดเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) วรรคแรก โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์สินนั้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นปรับบทเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 เป็นการไม่ถูกต้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่แก้ไขเป็นการไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share