แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานตำรวจภูธรแหลมฉบังเข้าจับกุมจำเลยที่อพาร์ตเมนต์ชื่อ ศ. เฮ้าส์ ท้องที่ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 เวลา 15.52 นาฬิกา ตามที่จำเลยต่อสู้ หาใช่จับกุมที่หน้าร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท บริเวณตลาดสี่มุมเมือง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 เวลา 2.30 นาฬิกา ดังที่ผู้จับกุมกล่าวอ้างไม่ เหตุคดีนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม การสอบสวนคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นผลให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8, ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 371 ริบ 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบ 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนของกลาง และให้คืนอาวุธปืนมีทะเบียนของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 666,666.66 บาท ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาต จำคุก 5 เดือน 10 วัน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 33 ปี 13 เดือน 10 วัน และปรับ 666,666.66 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ให้ยก ริบ 3,4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนของกลางและคืนอาวุธปืนมีทะเบียนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย โดยยึด 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด 54 เม็ด กับชนิดผง 1 ถุง รวมคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 20.427 กรัม และอาวุธปืนออโตเมติก ขนาด .380 เครื่องหมายทะเบียน กท 2603191 จำนวน 1 กระบอก พร้อมกระสุนปืนขนาดเดียวกัน 6 นัด เป็นของกลาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 เวลา 2.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังจับกุมจำเลยที่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยยึดได้ยาเสพติดและอาวุธปืนที่ตัวจำเลยเป็นของกลาง ฝ่ายจำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบต่อสู้ว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 เวลา 15.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจภูธรแหลมฉบังเข้าไปจับกุมจำเลยขณะจำเลยพักอาศัยอยู่ในห้องพักกับคนรักของจำเลยที่ศิริพรเฮ้าส์ อพาร์ตเมนต์ในท้องที่ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยเจ้าพนักงานตำรวจค้นห้องพักของจำเลยแล้วไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย เนื่องจากการจับกุมจำเลยตามข้ออ้างของโจทก์และตามข้อต่อสู้ของจำเลยมีข้อขัดแย้งแตกต่างกันในสาระสำคัญอย่างสิ้นเชิงและอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายตามมาหลายประการ กรณีจึงเห็นควรพิจารณาให้ได้ความกระจ่างเสียก่อนว่า การจับกุมจำเลยเกิดขึ้นในวันเวลาและสถานที่ใด ในปัญหานี้ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกบุญฑริกและดาบตำรวจทวีป ผู้ร่วมจับกุมจำเลยเป็นพยานเบิกความได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา ขณะพยานทั้งสองกับพวกรวม 8 คน ออกตรวจท้องที่ในเขตรับผิดชอบโดยใช้รถตู้เป็นยานพาหนะ ได้มีสายลับโทรศัพท์แจ้งแก่ผู้บังคับบัญชาของพยานทั้งสองว่าจำเลยจะนำยาเสพติดไปส่งมอบแก่ผู้อื่นที่บริเวณตลาดสี่มุมเมือง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พยานทั้งสองกับพวกจึงพากันเดินทางไปตรวจสอบที่ตลาดและพบจำเลยที่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท พยานทั้งสองกับพวกลงจากรถแสดงตัวแก่จำเลยว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วขอตรวจค้น จำเลยพยายามหลบหนี แต่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับกุมจำเลยไว้ได้โดยเมื่อตรวจค้นตัวจำเลย พบ 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด 54 เม็ด และชนิดผง 1 ถุง บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋ากางเกงด้านหน้าข้างขวาของจำเลยกับพบอาวุธปืน 1 กระบอก พร้อมกระสุนปืน 6 นัด ที่เอวด้านหน้าของจำเลย จึงจับกุมจำเลยและยึด 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนกับอาวุธปืนเป็นของกลาง เห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองมีเนื้อหาว่า พยานโจทก์ทั้งสองเพิ่งทราบพฤติการณ์ของจำเลยก่อนเกิดเหตุเพียงประมาณ 30 นาที โดยได้รับแจ้งว่าจำเลยจะนำยาเสพติดไปส่งมอบแก่ผู้อื่นที่บริเวณตลาดสี่มุมเมือง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบันทึกการจับกุมกลับได้ความไปอีกทางหนึ่งว่า ก่อนจับกุมจำเลยเจ้าพนักงานตำรวจได้สืบทราบแน่ชัดว่า จำเลยลักลอบจำหน่าย 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน ในเขตตำบลทุ่งสุขลาเป็นเวลานานแล้ว และในวันเกิดเหตุก่อนเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งจากสายลับว่าที่บริเวณตลาดสี่มุมเมืองมีการมั่วสุมจำหน่ายและเสพยาเสพติด จึงเดินทางไปตรวจสอบจนพบจำเลย ซึ่งเมื่อพิจารณาพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์แล้ว เห็นได้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์สองส่วนนี้ขัดแย้งกันสับสนเป็นพิรุธ อย่างไรก็ตามบันทึกการจับกุมมีพยานโจทก์ทั้งสองและเจ้าพนักงานตำรวจอื่นที่ร่วมจับกุมจำเลยลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องรวม 8 คน จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมมีข้อมูลเบาะแสที่จะจับกุมจำเลยมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ปัญหาต่อไปว่า เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมได้จับกุมจำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เห็นว่า แม้ร้อยตำรวจเอกบุญฑริกและดาบตำรวจทวีปพยานโจทก์ได้เบิกความตรงกันว่า พยานทั้งสองร่วมกันจับกุมจำเลยที่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ทในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 เวลา 2.30 นาฬิกา โดยมีบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การเป็นหลักฐานอ้างอิงก็ตาม แต่เมื่อทนายจำเลยนำสำเนาภาพถ่ายจากกล้องวีดีโอวงจรปิดซึ่งบันทึกเหตุการณ์การจับกุมจำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 เวลา 15.52 นาฬิกา ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสาร มาถามค้านพยานทั้งสอง พยานทั้งสองได้ให้ถ้อยคำทำนองเดียวกันว่า สำเนาภาพถ่ายทั้งสองฉบับเป็นการบันทึกภาพที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งโดยบุคคลที่ถูกควบคุมตัวตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1 ภาพที่ 3 คือ จำเลย ส่วนบุคคลตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.2 ภาพที่ 3 คือ ดาบตำรวจทวีป เนื่องจากพยานทั้งสองยืนยันว่า พยานทั้งสองร่วมกันจับกุมจำเลยในคดีนี้เพียงคดีเดียว ประกอบข้อที่จำเลยเบิกความว่า ในช่วงที่จำเลยถูกจับกุมจำเลยพักอาศัยอยู่กับคนรักของจำเลยที่ศิริพรเฮ้าส์อพาร์ตเมนต์นั้น นอกจากสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาแล้ว จำเลยยังมีนางสาววรารัตน์ คนรักของจำเลยและนางสมทรง แม่บ้านของศิริพรเฮ้าส์ อพาร์ตเมนต์ เป็นพยานเบิกความสนับสนุนน่าเชื่อถือ อีกทั้งเมื่อพิจารณาสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1 ภาพที่ 3 และ ล.4 ภาพที่ 6 เปรียบเทียบกับสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.5 ในส่วนที่เกี่ยวกับเสื้อของจำเลยแล้วเห็นได้ว่า เสื้อที่จำเลยสวมใส่ขณะถูกจับกุมตามที่ปรากฏในกล้องวีดีโอวงจรปิดของอพาร์ตเมนต์และเสื้อที่จำเลยสวมใส่ขณะชี้ของกลางที่สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง มีสีและลวดลายบนหน้าอกเสื้อเป็นอย่างเดียวกัน จึงทำให้เชื่อได้โดยสนิทใจว่าเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังได้เข้าจับกุมจำเลยที่อพาร์ตเมนต์ชื่อศิริพรเฮ้าส์ ท้องที่ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 เวลา 15.52 นาฬิกา ตามที่จำเลยต่อสู้ โดยกรณีหาใช่เป็นการจับกุมที่หน้าร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท บริเวณตลาดสี่มุมเมืองเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 เวลา 2.30 นาฬิกา ดังที่ผู้ร่วมจับกุมกล่าวอ้างไม่ เหตุคดีนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสาม การสอบสวนคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นผลให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 กรณีไม่มีความจำเป็นที่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นตามฎีกาของจำเลยอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดและพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์