คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 329/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำพิพากษาตามยอมมีความว่า เมื่อโจทก์ไม่สามารถบังคับคดีจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 ยอมชำระแทนภายใน 6 เดือนดังนี้ หมายความว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์ที่โจทก์จะยึดมาขายทอดตลาดได้โจทก์จึงจะยึดทรัพย์จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1,2 พร้อมกันไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1, 2 ในการบังคับคดีโดยคำพิพากษาตามยอมศาลชั้นต้นยกคำร้องคัดค้านของจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2พร้อมกับยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 มาขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้หรือไม่

ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไปจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ไว้จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสัญญาในที่สุดโจทก์กับจำเลยที่ 1และที่ 2 ขอให้ศาลทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2515

สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมีข้อความว่า “ข้อ 1. จำเลยที่ 1ยอมชำระต้นเงิน ดอกเบี้ยจำนวน 317,375 บาท 42 สตางค์ (สามแสนหนึ่งหมื่นเจ็ดพันสามร้อยเจ็ดสิบห้าบาทสี่สิบสองสตางค์) ให้โจทก์ โดยขอชำระครั้งเดียวทั้งหมดภายใน 1 เดือน นับแต่วันทำสัญญายอมนี้เป็นต้นไป หากผิดนัดชำระยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที” และ “ข้อ 2. ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้และโจทก์ไม่สามารถบังคับคดีได้ จำเลยที่ 2 ยอมชำระแทนภายในจำนวนเงินไม่เกิน247,443 บาท 50 สตางค์ (สองแสนสี่หมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยสี่สิบสามบาทห้าสิบสตางค์)ภายใน 6 เดือน” ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ให้โจทก์บังคับคดีคือยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 มาขายทอดตลาดชำระหนี้เสียก่อน และเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ และโจทก์ไม่สามารถบังคับคดีได้ ซึ่งหมายความว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินที่โจทก์จะยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดได้ โจทก์จึงจะมีสิทธิยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 มาขายทอดตลาดต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องกระทำภายในกำหนด 6 เดือน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ขอบังคับคดีโดยยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้พร้อมกันในคราวเดียวกัน จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 พร้อมกับยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดชำระหนี้”

พิพากษายืน

Share