แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คนร้าย 2 คน มีปืนพกคนละกระบอกขึ้นไปบนบ้านผู้เสียหายใช้ปืนจี้ขู่บังคับเอาวิทยุเทปไป เมื่อคนร้ายลงไปถึงรั้วบ้านมีจำเลยเดินตามไปด้วย ดังนี้ จำเลยซึ่งมิได้มีอาวุธปืนไม่มีความผิดตามมาตรา 340 ตรี ซึ่งมุ่งหมายลงโทษเฉพาะตัวผู้มีอาวุธปืนเท่านั้นคงมีความผิดตามมาตรา 340 วรรคสอง
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี จำคุกคนละ 18 ปี และให้จำเลยคืนวิทยุเทปหรือใช้ราคา3,000 บาทแก่ผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 340 วรรคสอง จำคุก 12 ปี ให้ยกฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2524 เวลา 9 นาฬิกาเศษ ขณะที่นางโสม เกตุหอมผู้เสียหายอยู่บนบ้าน มีชายคนร้าย 2 คนมีปืนพกเป็นอาวุธติดตัวคนละ1 กระบอกขึ้นไปบนบ้านผู้เสียหาย แล้วใช้อาวุธปืนจี้ขู่บังคับเอาวิทยุเทป1 เครื่อง ราคา 3,000 บาท และห้ามมิให้ผู้เสียหายส่งเสียง หากส่งเสียงจะฆ่า จากนั้นคนร้ายหยิบเอาวิทยุเทปของผู้เสียหายลงจากบ้านไป โดยสั่งห้ามไม่ให้ผู้เสียหายส่งเสียง และห้ามลงจากบ้านถ้าลงมาจะยิงให้ตาย ขณะนั้นผู้เสียหายเห็นจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ที่เชิงบันได และได้เดินไปกับคนร้าย 2 คนนั้นเมื่อไปถึงรั้วบ้านก็มีจำเลยที่ 1 เดินตามไปด้วย ผู้เสียหายได้ลงจากบ้านร้องขอความช่วยเหลือและวิ่งเข้าไปในหมู่บ้าน วันเดียวกันนี้เวลาประมาณ 9 นาฬิกา จำเลยที่ 1 กับพวกอีก 1 คนมาถามเด็กหญิงนิภา พลศักดิ์ ซึ่งอยู่ที่บ้านห่างบ้านผู้เสียหายประมาณ 40 เมตรว่า บ้านหลังไหนเป็นบ้านของนายปลิวสามีของผู้เสียหาย เด็กหญิงนิภาชี้บอกให้ ต่อมาประมาณ 30 นาทีเด็กหญิงนิภาจึงได้ยินผู้เสียหายร้องขอความช่วยเหลือและเห็นชาย 4 คนวิ่งอยู่บนคันคูกั้นน้ำ ชาย 4 คนนั้นคือจำเลยที่ 1 อีก 3 คน เด็กหญิงนิภาไม่รู้จัก แต่เคยเห็นหน้ามาคนหนึ่งเป็นคนที่มากับจำเลยที่ 1 มาถามหาบ้านผู้เสียหาย และมีคนร้ายคนหนึ่งถือวิทยุเทปไปด้วยเกิดเหตุแล้วผู้เสียหายไปแจ้งกำนัน แต่ไม่พบกำนัน จึงไปแจ้งความแก่ร้อยตำรวจตรีจารึก กล้าแข็งพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 กับพวกปล้นเอาทรัพย์ไป พนักงานสอบสวนสั่งให้ตำรวจสายสืบร่วมกับผู้เสียหายไปติดตามจับคนร้าย เมื่อพบจำเลยทั้งสองผู้เสียหายได้ชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ” ฯลฯ
“พยานหลักฐานโจทก์น้ำหนักไม่พอฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ควรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี แม้จะได้ความหรือไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีหรือใช้ปืนเป็นอาวุธหรือไม่ก็ตามนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายให้ลงโทษเฉพาะตัวผู้มีอาวุธปืนเท่านั้น ดังที่ศาลฎีกาได้เคยพิพากษามาก่อนแล้วหลายเรื่องจนเป็นที่ยุติแล้ว การที่โจทก์รื้อฟื้นขึ้นมาในปัญหาข้อนี้อีก เห็นได้ว่าไร้สาระโดยแท้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน