คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4307/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเดิมโจทก์ฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมและเป็นทางจำเป็น ในชั้นพิจารณาโจทก์จำเลยตกลงให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ที่ดินตกอยู่ในภาระจำยอมหรือไม่และศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องโดยฟังว่าทางพิพาทไม่เป็นทางภาระจำยอม ดังนี้ ถือได้ว่าประเด็นเรื่องทางจำเป็นนั้นคู่ความได้สละแล้วจึงไม่เป็นประเด็นอีกต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทโดยอ้างว่าเป็นทางจำเป็นได้อีก เพราะประเด็นต่างกับคดีเดิม ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
เมื่อทางพิพาทเป็นทางจำเป็น และโจทก์ได้ใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกทางพิพาทมาเป็นเวลาหลายปี โจทก์จึงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นดังกล่าวกว้าง 2 เมตรเพื่อให้รถยนต์ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบันเข้าออกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 และสิทธิใช้ทางดังกล่าวเป็นผลโดยอำนาจของกฎหมายไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน ๑ แปลง ด้านหนึ่งจดคลองซึ่งตื้นเขินหมดสภาพคลอง ถัดคลองเป็นที่ดินของจำเลยซึ่งติดถนน ส่วนด้านอื่นอีกสามด้านของที่ดินโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ใช้ทางกว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวตลอดที่ดินของจำเลยเป็นทางเดินและใช้รถยนต์จี๊ปผ่านเข้าออกสู่ถนนมานานกว่า ๑๐ ปี ทางในที่ดินของจำเลยจึงตกเป็นภาระจำยอมและทางจำเป็นเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๒๖ จำเลยปิดกั้นทางเดินดังกล่าวและเปิดช่องทางใหม่มีขนาดแคบกว่าเดิม ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถนำรถยนต์เข้าออกได้ จึงฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางให้มีความกว้าง ๒ เมตรยาวตลอดที่ดินของจำเลยและสูงจากพื้นดินถึงพื้นอาคารชั้นสองที่จำเลยปลูกสร้างคร่อมให้โจทก์ไปสู่ถนนได้ ให้จำเลยจดทะเบียนทางเป็นสิทธิแก่โจทก์ และให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปิดกั้นโดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า เจ้าของที่ดินเดิมของโจทก์เคยพิพาทเรื่องทางเดินกับจำเลยมาก่อน ศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยเปิดทางเดินมีความกว้าง ๑.๕๐ เมตร เมื่อที่ดินตกเป็นของโจทก์ จำเลยยังคงสงวนสิทธิไม่เคยให้โจทก์ใช้ทางพิพาทกว้างกว่า ๑.๕๐ เมตร เดิมเจ้าของรวมที่ดินโจทก์เคยฟ้องศาลให้เปิดทางเดินกว้าง ๓ เมตร ศาลได้พิพากษายกฟ้องตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๐๑/๒๕๐๓ โจทก์มีเส้นทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ไม่เคยแสดงการใช้ทางเป็นปรปักษ์ต่อจำเลย โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๐๑/๒๕๒๓ ของศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๐๑/๒๕๒๓ ของศาลช้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยเปิดทางเดินกว้าง ๒ เมตร ยาวตลอดที่ดินของจำเลย สูงจากพื้นดินถึงพื้นชั้นสองของอาคารตามเครื่องหมายสีแดงแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข ๑ ซึ่งศาล หมาย จ.๑ เพื่อให้โจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยไปสู่ถนนดำเนินเกษมได้ และให้จำเลยจดทะเบียนเป็นทางจำเป็นต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยกับให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปิดกั้นโดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมนายณรงค์ ทองสัมฤทธิ์ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๙๖๔ ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๒๒๙ ให้เปิดทางกว้าง ๓ เมตร โดยอ้างว่าเป็นทางภาระจำยอมและเป็นทางจำเป็น ศาลชั้นต้นฟังว่าทางพิพาทไม่เป็นทางภาระจำยอม พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๐๑/๒๕๒๓ ต่อมาโจทก์ทั้งห้าซึ่งถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวร่วมกับนายณรงค์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก ขอให้เปิดทางกว้าง ๒ เมตร โดยอ้างว่าเป็นทางภาระจำยอมและเป็นทางจำเป็น คดีคงมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า คำฟ้องเกี่ยวกับทางจำเป็นเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า แม้คำฟ้องคดีเดิมจะอ้างว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นด้วย แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๒๒ ระบุว่าคู่ความตกลงกันให้ศาลชั้นต้นกะประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่าที่ดินของจำเลยตกอยู่ในภาระจำยอมหรือไม่ แล้วศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามประเด็นดังกล่าวเพียงข้อเดียว ดังนั้น คำฟ้องในคดีนั้นในประเด็นที่ว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ถือได้ว่าคู่ความสละแล้ว ไม่เป็นประเด็นอีกต่อไป และถือไม่ได้ว่าศาลวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทในที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นทางจำเป็นได้อีกถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องซ้ำ เพราะประเด็นต่างกัน ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่า ทางพิพาทมีความกว้างเท่าใด ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยจำเลยมิได้ฎีกาว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและโจทก์นำสืบฟังได้ว่า โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางพิพาทกว้าง ๒ เมตร เพื่อนำรถยนต์เข้าออก และได้ใช้รถยนต์ผ่านทางพิพาทระหว่างที่จำเลยก่อสร้างตึกแถวเป็นเวลาหลายปี เมื่อพฤติการณ์เป็นเช่นนี้เท่ากับจำเลยยอมรับว่า โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางกว้าง ๒ เมตร จึงไม่ได้โต้แย้งในขณะที่โจทก์ใช้ทางกว้าง ๒ เมตรตามที่จำเลยเปิดไว้ ทั้งการใช้รถยนต์ในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็น โจทก์จึงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นกว้าง ๒ เมตร เพื่อให้รถยนต์เข้าออกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๙ เมื่อทางพิพาทเป็นทางจำเป็น โจทก์มีสิทธิใช้ทางโดยอำนาจของกฎหมายไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนเป็นทางจำเป็นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนสิ่งปิดกั้นโดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเองนั้น เห็นว่า โจทก์ชอบที่จะดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๘ ที่แก้ไขใหม่ โจทก์จะขอเป็นผู้รื้อถอนเองหาได้ไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า คำขอให้จดทะเบียนทางเดินและคำขอของโจทก์ที่ขอให้สั่งโจทก์เป็นผู้รื้อถอนสิ่งปิดกั้นโดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share