คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4300/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อ. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิมเป็นผู้รังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยจำนวน 158 แปลง แล้วต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด น. ซื้อที่ดินที่ อ. แบ่งแยกไว้มาจัดจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป การขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ส่วนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. จะได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก การที่ไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินไม่ทำให้การดำเนินการขายที่ดินดังกล่าวกลับไม่เป็นการจัดสรรที่ดิน
เมื่อการดำเนินการขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด น.เป็นการจัดสรรที่ดินทางเท้า ท่อระบายน้ำใต้ทางเท้า และถนนคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นสาธารณูปโภคในที่ดินพิพาทย่อมตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายก็ไม่ทำให้ภารจำยอมนั้นสิ้นไป
แม้ฟ้องของโจทก์จะเกี่ยวกับการจัดการสินสมรส แต่ตามมาตรา 1477 บัญญัติให้คู่สมรสฟ้องหรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรสได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตราบใดที่กำแพงคอนกรีตหรือวัสดุอื่นใดในภารยทรัพย์ยังเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่เจ้าของสามยทรัพย์ เจ้าของสามยทรัพย์ย่อมฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ได้แม้จะเกินหนึ่งปีนับแต่ก่อสร้างก็ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตรั้วไม้ ขนกองหินตลอดจนสิ่งกีดขวางอื่น ๆ ออกจากที่ดินซึ่งเป็นภารจำยอมและปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมเพื่อให้โจทก์ทั้งสิบสี่และประชาชนได้ใช้เป็นทางเข้าออกโดยสะดวกเช่นเดิมและพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4858 และที่ดินโฉนดเลขที่ 88964, 88965 ตำบลลาดยาว(บางซื่อฝั่งเหนือ) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ทางส่วนซึ่งเป็นของจำเลยตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ทั้งสิบสี่ โดยให้จำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบสี่ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนในการจดทะเบียนภารจำยอมกับให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสิบสี่ เดือนละ 140,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและสิ่งของที่กีดขวางทางภารจำยอมกับปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมและจัดการจดทะเบียนภารจำยอมแก่โจทก์ทั้งสิบสี่แล้วเสร็จ

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 14 ขอถอนฟ้องศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 4858ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานครตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตกับขนย้ายวัสดุที่กองอยู่บนที่ดินดังกล่าวและปรับสภาพที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิมให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 เดือนละ 50,000 บาทนับถัดจากวันฟ้อง (1 กรกฎาคม 2535) เป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนกำแพงกับขนย้ายวัสดุและปรับสภาพที่ดินโฉนดเลขที่ 4858 ให้กลับสู่สภาพเดิม กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 12กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าเสียหายที่ให้จำเลยชำระแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13 ให้ยกเสีย และระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 กับจำเลยให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแต่ละฉบับท้ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า ที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งเป็นที่ดินที่มีทางเท้า ท่อระบายน้ำใต้ทางเท้าและถนนคอนกรีตเสริมเหล็กตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 นั้น มีใจความสำคัญว่า “ข้อ 1″”การจัดสรรที่ดิน” หมายความว่า การจัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อย มีจำนวนตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไปไม่ว่าด้วยวิธีใด โดยได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเป็นค่าตอบแทนและมีการให้คำมั่นหรือการแสดงออกโดยปริยายว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะ หรือปรับปรุงให้ที่ดินนั้นเป็นที่อยู่อาศัยที่ประกอบการพาณิชย์หรือที่ประกอบอุตสาหกรรม “ผู้จัดสรรที่ดิน” หมายความว่าผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน” “ข้อ 30 สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนนสวนสาธารณะสนามเด็กเล่นให้ดีกว่าตกอยู่ในภารจำยอมเมื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้” คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่กล่าวมาข้างต้นว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน.เอส. คอนสทรัคชั่นซึ่งได้ซื้อที่ดินที่นายเอกแบ่งแยกไว้จำนวน 158 แปลง แล้วได้ทำโครงการศูนย์การค้าโดยปลูกสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินที่นายเอกแบ่งแยกเพื่อขายพร้อมที่ดินแก่บุคคลทั่วไปตามใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.20และผังอาคารพาณิชย์เอกสารหมาย จ.21 ซึ่งตามใบโฆษณาและผังอาคารพาณิชย์ดังกล่าวได้เว้นที่ไว้ตรงกลางเป็นตลาดผ้าและตลาดสด รอบตลาดผ้าและตลาดสดมีถนนล้อมรอบ จึงเป็นกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน.เอส. คอนสทรัคชั่น ได้จัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนเกินกว่าสิบแปลงโดยการขายแก่บุคคลทั่วไป และให้คำมั่นโดยการประกาศในใบโฆษณาเอกสารหมายจ.20 และผังอาคารพาณิชย์เอกสารหมาย จ.21 ว่า จะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะโดยให้มีน้ำ ไฟ และถนนคอนกรีตเสริมเหล็กหน้า อาคารพาณิชย์ทุกคูหา การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามคำนิยามของคำว่าการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 1 ดังกล่าวข้างต้นการดำเนินการขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน.เอส. คอนสทรัคชั่นจึงเป็นการจัดสรรที่ดินทั้งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวเพียงแต่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดินหมายความว่า การจัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไปไม่ว่าด้วยวิธีใดโดยมิได้มีข้อกำหนดว่าผู้จัดสรรที่ดินที่ทำการจัดสรรที่ดินต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้ที่ทำการแบ่งแยกที่ดินที่นำมาจัดสรร ดังนี้แม้นายเอกเจ้าของที่ดินเดิมเป็นผู้รังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยจำนวน 158 แปลงแล้ว ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน.เอส. คอนสทรัคชั่นซื้อที่ดินที่นายเอกแบ่งแยกไว้ทั้งหมดนำมาจัดจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปก็หาทำให้การดำเนินการขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน.เอส.คอนสทรัคชั่น ตามที่กล่าวมาข้างต้นไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวตามที่จำเลยอ้างในฎีกาไม่ ส่วนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอน.เอส. คอนสทรัคชั่น จะได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน.เอส. คอนสทรัคชั่น จะดำเนินการฝ่าฝืนโดยไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวก็ไม่ทำให้การดำเนินการขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอน.เอส. คอนสทรัคชั่น กลับไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวตามที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใดเช่นกันเมื่อการดำเนินการขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน.เอส. คอนสทรัคชั่นเป็นการจัดสรรที่ดินดังวินิจฉัยมาแล้ว ทางเท้า ท่อระบายน้ำใต้ทางเท้าและถนนคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นสาธารณูปโภคในที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 ย่อมตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24พฤศจิกายน 2515 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น ที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งเป็นที่ดินที่สาธารณูปโภคดังกล่าวก่อสร้างในที่ดินย่อมตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินในโครงการทุกแปลงรวมทั้งที่ดินของโจทก์ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 แปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.45 จ.14 ถึง จ. 16 จ.35 และจ.23โดยผลแห่งกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวแม้จำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 จากบริษัทอาเซียนพัฒนาการ จำกัด ซึ่งซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอน. เอส.คอนสทรัคชั่น ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ตามที่จำเลยนำสืบอันเป็นทำนองอ้างว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ไม่ทำให้ภารจำยอมนั้นสิ้นไป จำเลยจึงต้องรับภาระตามกฎหมายดังกล่าวด้วย เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ข้อที่จำเลยฎีกาในปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหานี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีที่วินิจฉัยมาเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปมีว่า จำเลยกระทำให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกหรือไม่และโจทก์ทั้งสิบสี่ ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 มีอำนาจฟ้องหรือไม่เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยมาดังกล่าวแล้วว่า ที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งเป็นที่ดินที่สาธารณูปโภคก่อสร้างในที่ดินเป็นภารจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 โจทก์ที่ 7 ที่ 9ถึงที่ 11 และที่ 13 ซึ่งซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ในที่ดินจัดสรรดังกล่าวย่อมมีสิทธิใช้ประโยชน์แห่งภารจำยอม และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ามีการกั้นรั้วสังกะสีบนถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่ก่อสร้างในที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 แล้วต่อมาได้สร้างเป็นกำแพงคอนกรีตยาวตลอดแนวตามเส้นสีแดงในแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.13 ทำให้ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กดังกล่าวแคบลงไม่ว่าจะเหลือเพียงประมาณ 6 เมตร ตามที่ฝ่ายโจทก์นำสืบ หรือประมาณ 8 เมตร ตามที่จำเลยนำสืบก็เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ทำให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องให้ปลดเปลื้องความเสียหายดังกล่าวได้ โดยมิต้องคำนึงว่ายังมีผู้อื่นทำให้โจทก์ทั้งหมดดังกล่าวเสื่อมประโยชน์ในการใช้ภารยทรัพย์และโจทก์ทั้งหมดดังกล่าวได้ฟ้องบุคคลเหล่านั้นตามที่จำเลยอ้างในฎีกาหรือไม่ เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ข้อที่จำเลยฎีกาในปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหานี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีที่วินิจฉัยมาเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 9 และที่ 13 ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1477 ได้บัญญัติให้สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องต่อสู้หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรสได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งดังนั้น ที่โจทก์ที่ 9 และที่ 13 ฟ้องคดีนี้แม้จะเกี่ยวด้วยการจัดการสินสมรสตามที่จำเลยอ้าง โจทก์ที่ 9 และที่ 13 ก็มีอำนาจฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อสุดท้ายมีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินจำเลยแปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.11 ตกเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโจทก์ที่ 7ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 แปลงโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.45 จ.14ถึง จ.16 จ.35 และ จ.23 โดยผลกฎหมายดังวินิจฉัยมาข้างต้น ฉะนั้นตราบใดที่กำแพงคอนกรีตหรือวัสดุอื่นใดที่จำเลยสร้างหรือทำลงในภารยทรัพย์เป็นเหตุให้ประโยชน์การใช้สอยภารยทรัพย์ของโจทก์ที่ 7 ที่ 9ถึงที่ 11 และที่ 13 ย่อมสามารถฟ้องบังคับให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตและขนย้ายวัสดุที่จำเลยสร้างหรือทำลงในภารยทรัพย์นั้นได้ ฉะนั้นแม้โจทก์ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 จะฟ้องจำเลยเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยอ้างว่ารั้วถูกก่อสร้างในปี 2527 และถูกสร้างเพิ่มเติมในปี 2533 ฟ้องโจทก์ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 ก็ไม่ขาดอายุความตามที่จำเลยอ้าง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share