คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 43-44/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อขายที่ดินไม่ได้กำหนดเวลาชำระเงินที่ค้างกันไว้ เพียงมีข้อความว่าผู้จะซื้อจะนำมาชำระให้ในโอกาสอันสมควรเท่านั้นดังนี้ แม้จะฟังว่าผู้จะซื้อเคยผัดผ่อนชำระราคาที่ดินที่ค้าง ภายในเดือนธันวาคม 2507 แล้วไม่ชำระ ก็เป็นเรื่องที่ผู้จะซื้อมิได้ปฏิบัติตามกำหนดเวลาที่ขอผัดผ่อนไว้ต่อโจทก์เท่านั้น มิใช่กรณีผู้จะขายบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ แล้วผู้จะซื้อไม่ชำระตามกำหนดอันจะเป็นเหตุให้ผู้จะขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387ได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้พิจารณาพิพากษารวมกันมา

สำนวนคดีแรกโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2502 จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดที่ 8290 ของโจทก์ที่เนื้อที่ 49 ตารางวา กับโจทก์ คิดเป็นราคา 36,000 บาท จำเลยได้ชำระเงินมัดจำให้โจทก์ 19,000 บาท ส่วนที่เหลือ 17,000 บาท จำเลยสัญญาว่าจะชำระให้ในเวลาอันสมควร ตั้งแต่ทำสัญญากันไว้จำเลยไม่เคยชำระเงินที่ค้างอยู่ โจทก์ทวงถามจำเลยก็ผัดผ่อนเรื่อยมาโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2508 บอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำ แล้วขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร กับให้ใช้ค่าเสียหาย

จำเลยให้การว่า การบอกเลิกสัญญาไม่ชอบ และไม่สุจริต มิได้บอกกล่าวกำหนดเวลาชำระเงินให้จำเลยทราบล่วงหน้าตามสมควร โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างได้ก็ต่อเมื่อโจทก์พร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ซื้อนั้นให้แก่จำเลยได้ แต่โจทก์มิได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินให้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ

สำนวนคดีหลัง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8290 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นสินบริคณห์ให้แก่โจทก์ เนื้อที่ 49 ตารางวา ราคา 36,000 บาททำสัญญาจะซื้อขายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2502 โจทก์ได้ชำระเงินค่าที่ดินไปแล้ว 19,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 17,000 บาท มิได้กำหนดเวลาชำระกัน แต่ได้ตกลงกันด้วยวาจาว่าจะชำระให้เมื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2502 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่พิพาท จะใช้สิทธิริบเงินที่ชำระไว้อ้างว่าจำเลยไม่ชำระเงินที่ค้าง โจทก์ไปติดต่อกับจำเลยที่ 1 ขอชำระเงินและให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ จำเลยกลับบ่ายเบี่ยง ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดส่วนพิพาทแล้วโอนขายให้โจทก์ โดยให้โจทก์ยอมชำระราคาที่ค้างแก่จำเลย หากไม่สามารถโอนขายได้ ให้จำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมทั้งค่าเสียหาย

จำเลยให้การทำนองเดียวกับฟ้องในคดีแรก และต่อสู้ว่าโจทก์ไม่เสียหาย โจทก์ผิดสัญญา จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ

ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณาและให้เรียกโจทก์ในสำนวนคดีแรกและจำเลยในคดีหลังว่าโจทก์ และเรียกจำเลยในสำนวนคดีแรกและโจทก์ในคดีหลังว่าจำเลย และวินิจฉัยว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเลิกสัญญาพิพากษาให้โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยและรับเงิน 16,800 บาท ถ้าโอนไม่ได้ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 131,000 บาทแก่จำเลย พร้อมทั้งคืนเงินมัดจำ 19,200 บาท แก่จำเลย หากโจทก์ไม่โอน ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนการโอนของโจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์คดีแรก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

แม้ในสัญญาจะซื้อขายที่ดินไม่ได้กำหนดเวลาชำระเงินที่ค้างกันไว้เพียงมีข้อความว่าในข้อที่โจทก์ฎีกาว่าจะนำมาชำระให้ในโอกาสอันสมควร ก็ตาม แต่จำเลยก็ได้เคยตกลงจะชำระราคาที่ดินที่ค้างชำระภายในเดือนธันวาคม 2507 แล้วไม่ชำระ การบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายของโจทก์ต่อจำเลยจึงเป็นการบอกเลิกที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จะถือว่าโจทก์ยังไม่ได้กำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้ในเวลาอันสมควรจึงเป็นการคลาดเคลื่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะรับฟังเป็นความจริงว่าจำเลยได้ผัดผ่อนชำระราคาที่ดินที่ค้างชำระให้โจทก์ภายในเดือนธันวาคม 2507 ก็ตาม ก็เป็นเรื่องจำเลยมิได้ปฏิบัติตามกำหนดเวลาที่ได้ขอผัดผ่อนไว้แก่โจทก์เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์บอกกล่าวกำหนดเวลาชำระหนี้แล้วจำเลยไม่ชำระ อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โจทก์จึงต้องผูกพันตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าว จำเลยชอบที่จะขอบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาได้

พิพากษายืน

Share