คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4294/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเวนคืนทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นดังนั้นจึงต้องเป็นไปตามหลักการเบื้องต้นที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคสองบัญญัติไว้กล่าวคือจะต้องเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ส่วนวิธีการคำนวณหาราคาที่สูงขึ้นดังกล่าวเมื่อยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาตามที่มาตรา21วรรคสี่บัญญัติไว้ออกใช้บังคับก็จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์หรือมาตราการที่เห็นว่าเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ถูกเวนคืนและสังคมเป็นส่วนรวมมาใช้ก่อนหาใช่จะต้องแปลความว่าเมื่อไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วจะมิต้องคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนเสียเลยและไม่ต้องนำมาหักออกจากค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนไม่ทั้งนี้เพราะจะทำให้มาตรา21วรรคสองอันเป็นหลักการเบื้องต้นไม่มีผลใช้บังคับอันมิใช่เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติดังกล่าวคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯจึงมีอำนาจคำนวณราคาที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ว่ามีราคาสูงขึ้นและนำมาหักกับค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายแก่โจทก์ได้ ได้มีพระราชกฤษฎีกาฯซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะประกาศใช้มีผลให้ที่ดินของโจทก์จะต้องถูกเวนคืนการที่โจทก์จะได้รับชดใช้ค่าทดแทนหรือไม่เพียงใดย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายเมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคสองกำหนดให้เอาราคาสูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนมาหักออกจากค่าทดแทนให้แต่ไม่ให้ถือว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนเพื่อจะให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกลับต้องใช้เงินให้อีกเช่นนี้เมื่อราคาที่สูงขึ้นนั้นมีจำนวนมากกว่าค่าทดแทนในกรณีของโจทก์โจทก์ก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่รัฐแต่โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจากรัฐโดยนัยของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นเช่นกันการที่โจทก์ถูกเวนคืนโดยไม่ได้รับค่าทดแทนจึงเป็นไปตามบทกฎหมายและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2521มาตรา33วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 14,760,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน อัตราร้อยละ 8.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า การกำหนดราคาที่ดินถูกต้องเป็นธรรมอย่างยิ่งและชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 แล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7527 เนื้อที่ 3 ไร่1 งาน 54 ตารางวา ตั้งอยู่ตำบลบางโคล่ (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา(บางรัก) กรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอนและแขวงบางโคล่ เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลเชื่อมระหว่างถนนสาธรกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่ 492 ตารางวา โดยถนนสายนี้ผ่ากลางที่ดินของโจทก์ทำให้ที่ดินของโจทก์ถูกแบ่งออกเป็น 2 แปลง อยู่คนละฝั่งถนนและที่ดินแต่ละแปลงมีเนื้อที่ 1 ไร่เศษ รวม 2 แปลง 862 ตารางวาคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนโดยถือบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ถึง 2534 เป็นเกณฑ์ในราคาตารางวาละ20,000 บาท เนื้อที่ 200 ตารางวา และราคาตารางวาละ 5,000 บาทเนื้อที่ 292 ตารางวา รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวน 5,460,000 บาท แต่คณะกรรมการข้างต้นเห็นว่า ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้น โดยเปรียบเทียบจากราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในเวลานั้นของที่ดินบริเวณถนนจันทน์ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันและเป็นโครงการคล้ายคลึงกันที่สำเร็จแล้วมาคำนวณ ซึ่งเมื่อคิดคำนวณแล้วราคาที่ดินที่เหลืออยู่สูงขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะได้รับจำเลยที่ 1 จึงไม่จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนให้โจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.2 โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังไม่มีคำวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนหรือไม่ โจทก์ฎีกาประการแรกว่า ที่ดินส่วนของโจทก์ที่ถูกเวนคืนควรมีราคาตารางวาละ 30,000 บาทเห็นว่า โจทก์คงมีตัวโจทก์เพียงคนเดียวเบิกความว่า ที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ซื้อขายกันในราคาตารางวาละ30,000-40,000 บาท และก่อนที่ที่ดินของโจทก์จะถูกเวนคืนที่ดินแปลงนี้ก็มีผู้เสนอขอซื้อในราคาตารางวาละ 30,000 บาท แต่โจทก์ไม่มีพยานบุคคลหรือพยานเอกสารมาสนับสนุนข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวแต่อย่างใด นายสำราญ สอนเสนาะ พยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ 3 สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินกรมที่ดินที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลรักษาบัญชีราคาประเมินที่ดินก็เบิกความเพียงว่า ราคาประเมินที่ดินของทางราชการปกติแล้วจะต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด มิได้ระบุเจาะจงว่าราคาที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนนั้นซื้อขายกันในท้องตลาดเท่าใด หรือมีราคาซื้อขายกันในท้องตลาดสูงกว่าราคาประเมินเท่าใด จึงไม่ทำให้ข้อนำสืบของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ คงมีเพียงคำเบิกความของโจทก์ลอย ๆ ไม่อาจรับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดราคาเฉลี่ยเป็นเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตารางวาละ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน9,840,000 บาท นั้น เป็นประโยชน์แก่โจทก์และต้องด้วยเจตนารมณ์ของประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 แล้วไม่มีเหตุจะแก้ไขเป็นประการอื่น โจทก์ฎีกาต่อไปว่าที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ถนนที่ตัดผ่านยังมิได้สร้างแล้วเสร็จดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อถนนตัดผ่านที่ดินของโจทก์แล้วจะทำให้ที่ดินเจริญและมีราคาสูงขึ้นจึงเป็นเพียงการคาดคะเนถึงอนาคต ซึ่งอาจเกิดขึ้นหรือไม่เพียงใดก็ได้ไม่อาจนำมาใช้เทียบเคียงกับที่ดินของโจทก์ในสภาพเป็นอยู่ขณะนั้น เห็นว่าที่ดินของโจทก์เดิมไม่มีถนนสาธารณะผ่านแต่มีถนนส่วนบุคคลซึ่งเป็นของโจทก์เองกว้างเพียง 4 เมตร ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเมื่อที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนโดยมีถนนสาธารณะกว้างถึง 40 เมตรตัดผ่านแบ่งที่ดินของโจทก์หลังจากถูกเวนคืนออกเป็น 2 แปลงมีเนื้อที่แปลงละ 1 ไร่เศษ และทั้งสองแปลงอยู่ริมติดกับถนนสาธารณะที่ตัดผ่านย่อมเห็นประจักษ์ว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์จะต้องมีราคาสูงขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะสูงขึ้นเพียงใดนั้นย่อมจะต้องอนุมานจากสภาพของที่ดินเมื่อมีการสร้างถนนสาธารณะดังกล่าวเสร็จแล้ว ทั้งนี้โดยเปรียบเทียบจากสภาพที่ดินที่ใกล้เคียงและคล้ายคลึงกันกับสภาพที่ดินของโจทก์ โจทก์เองก็เบิกความยอมรับว่าที่ดินของโจทก์แปลงที่ถูกเวนคืนนี้ในปัจจุบัน (ปี 2536) มีราคาตารางวาละ 30,000 บาท ถึง 40,000 บาท มีผู้ต้องการซื้อในราคานี้แต่โจทก์ไม่มีความประสงค์จะขาย เห็นได้ว่าในขณะที่เจ้าหน้าที่เวนคืนแจ้งประเมินราคาที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเมื่อปี 2534ตารางวาละ 20,000 บาท และ 5,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.2จนถึงขณะที่โจทก์เบิกความในปี 2536 เป็นเวลาเพียง 2 ปีเศษที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์ยังมีราคาสูงขึ้นประมาณตารางวาละ 10,000-20,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ถนนสาธารณะที่ตัดผ่านที่ดินของโจทก์ยังสร้างไม่เสร็จ ฉะนั้น การที่ฝ่ายจำเลยประเมินราคาที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของโจทก์โดยอาศัยย่านถนนจันทน์อันเป็นถนนสาธารณะที่ใกล้เคียงกับที่จะสร้างผ่านที่ดินของโจทก์มาเป็นหลักในการคำนวณโดยคิดให้ตารางวาละ 35,000 บาทสำหรับที่ดินติดกับถนนสาธารณะและตารางวาละ 5,000 บาท สำหรับที่ดินที่ไม่ติดถนนสาธารณะ จึงเป็นประโยชน์แก่โจทก์มากอยู่แล้วการประเมินดังกล่าวหาใช่เป็นเพียงการคาดคะเนเอาดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ทั้งที่ดินทั้งสองแปลงที่เหลือจากการถูกเวนคืนของโจทก์แต่ละแปลงก็มีเนื้อที่ถึง 1 ไร่เศษ กว้าง 22 เมตร ยาว 40-50 เมตรเพียงพอที่จะปลูกอาคารทำการค้าขายหรือเป็นที่อยู่อาศัยได้จึงเห็นว่าการประเมินดังกล่าวได้ให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมอันสังคมจะพึงได้รับแล้ว
โจทก์ฎีกาประการต่อไปว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณราคาที่ดินส่วนที่เหลืออยู่ของโจทก์ว่ามีราคาสูงขึ้นเท่าใด ทั้งนี้เพราะยังมิได้มีพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ออกใช้บังคับในขณะนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นก็ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน และวรรคสี่ บัญญัติว่าการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นตามวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา บทกฎหมายข้างต้นได้กำหนดเป็นหลักการเบื้องต้นไว้ในวรรคสองว่า ถ้าการเวนคืนรายใดทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนนั้นมีราคาสูงขึ้น ก็ให้เอาราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ส่วนในวรรคสี่ได้กำหนดถึงวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ตามวรรคสองว่า ให้ใช้หลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา กรณีของโจทก์ดังที่วินิจฉัยมาแล้วว่า การเวนคืนทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้น ดังนั้น จึงต้องเป็นไปตามหลักการเบื้องต้นที่มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติไว้กล่าวคือ จะต้องเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ ส่วนวิธีการคำนวณหาราคาที่สูงขึ้นดังกล่าวเมื่อยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาตามที่มาตรา 21 วรรคสี่บัญญัติไว้ออกใช้บังคับก็จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์หรือมาตรการที่เห็นว่าเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ถูกเวนคืนและสังคมเป็นส่วนรวมมาใช้ก่อนหาใช้จะต้องแปลความว่าเมื่อไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้ว จะมิต้องคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนเสียเลย และไม่ต้องนำมาหักออกจากค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนไม่ ทั้งนี้ เพราะจะทำให้มาตรา 21 วรรคสอง อันเป็นหลักการเบื้องต้นไม่มีผลใช้บังคับ อันมิใช่เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติดังกล่าว คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ จึงมีอำนาจคำนวณราคาที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ว่ามีราคาสูงขึ้นและนำมาหักกับค่าทดแทนที่จะต้องจ่ายแก่โจทก์ได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า การเวนคืนที่ดินของโจทก์โดยไม่จ่ายค่าทดแทนเช่นนี้เป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2534 ซึ่งบัญญัติไว้ว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและต้องใช้ค่าทดแทนนั้น เห็นว่าตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 33 วรรคสามซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่ที่ดินของโจทก์ถูกกำหนดให้อยู่ในเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนโดยพระราชกฤษฎีกาฯ บัญญัติว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ และต้องชดใช้ค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายในการเวนคืนนั้น ทั้งนี้ ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย กรณีของโจทก์ได้มีพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะประกาศใช้มีผลให้ที่ดินของโจทก์จะต้องถูกเวนคืน ส่วนการที่โจทก์จะได้รับชดใช้ค่าทดแทนหรือไม่เพียงใดย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมาย เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสองกำหนดให้เอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนมาหักออกจากค่าทดแทนได้ แต่ไม่ให้ถือว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนเพื่อจะให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกลับต้องใช้เงินให้อีก เช่นนี้เมื่อราคาที่สูงขึ้นนั้นมีจำนวนมากกว่าค่าทดแทนในกรณีของโจทก์โจทก์ก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่รัฐ แต่โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจากรัฐโดยนัยของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นเช่นกันการที่โจทก์ถูกเวนคืนโดยไม่ได้รับค่าทดแทนจึงเป็นไปตามบทกฎหมายและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521มาตรา 33 วรรคสาม
พิพากษายืน

Share