แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นศึกษาธิการจังหวัดและผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดตามลำดับ ได้ลงชื่อในใบถอน เงินฝากของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดที่ฝากประจำไว้กับธนาคารจำเลยที่ 4เพื่อโอนเข้าบัญชีกระแสรายวันของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีอยู่แล้วที่ธนาคารจำเลยที่ 4 ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการโจทก์ที่ 1 ว่าด้วยการจัดการกองทุนสงเคราะห์ ฯลฯโดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 มอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการครูช่วย ปฏิบัติงานสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้รับเงินแทน แต่ใบถอน เงินดังกล่าวมิได้ระบุว่า เป็นการถอน เงินเพื่อโอนไปฝากในบัญชีกระแสรายวัน จึงเป็นใบถอน เงินเพื่อรับเงินสดไปจากธนาคาร แม้จำเลยที่ 2 จะได้ทำหนังสือแจ้งธนาคารจำเลยที่ 4 ขอถอน เงินกองทุนสงเคราะห์ฯ ในบัญชีเงินฝากประจำโอนเข้าบัญชีกระแสรายวันมอบให้จำเลยที่ 1 ไปก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อธนาคาร เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับเงินแล้วก็หลบหนีไปการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะเป็นช่องทางให้จำเลยที่ 1 ทุจริตเอาเงินที่ถอน ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวได้โดยง่าย เนื่องจากธนาคารจำเลยที่ 4 ต้องจ่ายเป็นเงินสดให้จำเลยที่ 1 นอกจากนี้การมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 ไปถอน เงินเป็นจำนวนมากถึงหกแสน บาทเศษ จำเลยที่ 2 ที่ 3 กลับมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินแต่ผู้เดียว จึงเป็นความประมาทเลินเล่อยิ่งขึ้น แม้ตามระเบียบจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีหน้าที่ไปถอน เงินด้วยตนเอง เพราะมีอำนาจหน้าที่ลงนามเป็นผู้ถอน เงิน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็อาจมอบฉันทะให้ผู้อื่นทำการแทนได้แต่จะต้องควบคุมดูแล และใช้วิธีการที่รัดกุม รอบคอบ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เปิดช่องให้จำเลยที่ 1 ถอน เงินแล้วเอาเงินสดหลบหนีไปโดยทุจริต จำเลยที่ 2ที่ 3 จึงกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย สำหรับธนาคารจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้จัดการประจำสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 สมุห์บัญชีนั้นปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำใบถอน เงินซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 มอบฉันทะโดยถูกต้องแล้วมายื่นต่อธนาคารเพื่อขอรับเงินสด โดยมิได้ยื่นหนังสือของจำเลยที่ 2 ที่ให้นำเงินเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันการที่จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 6 จ่ายเงินสดให้จำเลยที่ 1 ไป จึงเป็นการกระทำตามหน้าที่ มิได้ประมาทเลินเล่อ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามกฏหมายโจทก์ที่ 3 เป็นคณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับระเบียบและวิธีปฏิบัติของกองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครูโรงเรียนราษฎร์ ควบคุมและตรวจสอบให้การดำเนินงานของกองทุนเป็นไปตามระเบียบ มีเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาเอกชนเป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการครู สังกัดโจทก์ที่ 2 ได้รับคำสั่งให้ช่วยปฏิบัติงานสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำเลยที่ 3ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำเลยที่ 4 เป็นธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 5 ที่ 6 เป็นลูกจ้าง จำเลยที่ 4 ตำแหน่งผู้จัดการและสมุห์บัญชีประจำสำนักงานสาขาสุราษฎร์ธานีตามลำดับวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ทำเรื่องขออนุมัติจำเลยที่ 2 เพื่อโอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำไปฝากไว้ในบัญชีกระแสรายวันที่ธนาคารจำเลยที่ 4สาขาสุราษฎร์ธานี เพื่อเบิกจ่ายให้แก่ครูโรงเรียนราษฎร์ จำเลยที่ 2อนุมัติ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ลงลายมือชื่อถอนเงินจำนวน 695,851.69 บาทระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบฉันทะ และให้โอนเข้าบัญชีกระแสรายวันโดยทำหนังสือถึงจำเลยที่ 5 มอบให้จำเลยที่ 1 นำไปยื่นกับจำเลยที่ 5 เป็นการประกอบเรื่องการโอนเงินฝาก จำเลยที่ 1 ทุจริตไม่ยื่นหนังสือดังกล่าวแก่จำเลยที่ 5 เพียงแต่นำใบถอนเงินยื่นขอถอนเงิน จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวน 695,851.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยแล้วได้นำเงินทั้งหมดหลบหนีไป จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำการโดยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง ทั้งที่เงินจำนวนมากควรกระทำด้วยตนเองเป็นพิเศษ กลับมอบให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยไปจัดการแทน โดยมิได้เขียนหมายเหตุไว้ในใบถอนเงินว่าถอนเงินเพื่อโอนเข้าฝากบัญชีกระแสรายวัน และยังมอบหนังสือแจ้งเรื่องถอนเงินไปกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้ส่งไปด้วยตนเอง หรือแจ้งให้จำเลยที่ 5 ที่ 6มารับไป มิได้ติดต่อโดยตรงหรือทางโทรศัพท์หรือวิธีการอื่น ๆ เพื่อให้จำเลยที่ 5 ที่ 6 รู้ความประสงค์ถอนเงินโอนเข้าบัญชีกระแสรายวันจำเลยที่ 5 ที่ 6 กระทำด้วยความประมาทเลินเล่อจ่ายเงินสดจำนวนมากโดยไม่จัดให้มีการควบคุมอารักขาตามระเบียบของโจทก์ที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 5 ที่ 6 ก็ทราบดีจึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทุกคนร่วมกันรับผิดแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองกระทำด้วยความระมัดระวังและรอบคอบรัดกุมพอสมควรแก่เหตุแล้วมิได้กระทำละเมิด คดีโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การว่ามิได้กระทำการใดอันเป็นการละเมิดต่อโจท์ คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6ร่วมกันใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวน 575,751.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5
โจทก์ทั้งสาม และจำเลยที่ 4 ที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6ร่วมกันรับผิดในเงินจำนวน 582,959.54 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 4 ที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 4 ที่ 6 ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1เพียงใดหรือไม่…ข้อเท็จจริงฟังได้…ว่า โจทก์ที่ 1 ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ด้วยการจัดการกองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครูโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2521 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2521 แก้ไขระเบียบดังกล่าวซึ่งออกเมื่อ พ.ศ. 2518 เพื่อนนำเงินกองทุนไปจ่ายให้แก่ครูโรงเรียนราษฎร์ไปก่อน โจทก์ที่ 2 จึงมีหนังสือลงวันที่ 24มีนาคม 2521 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้เปิดบัญชีกระแสรายวันขึ้นใหม่ที่ธนาคารจำเลยที่ 4 สาขาจังหวัด ตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว เอกสารหมาย ล.6 สำนักศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีขออนุมัติถอนเงินกองทุนซึ่งฝากไว้ในบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารจำเลยที่ 4 สาขาสุราษฎร์ธานี โอนเข้าบัญชีกระแสรายวันซึ่งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมีอยู่แล้วในธนาคารเดียวกัน เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วในวันที่ 11 เมษายนน 2521จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ลงชื่อในใบถอนเงินเอกสารหมาย ล.13 มอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินแทน และจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย ปล.1 แจ้งธนาคารจำเลยที่ 4 สาขาสุราษฎร์ธานีขอถอนเงินกองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครูโรงเรียนราษฎร์ ในบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 5411 จำนวนเงิน 695,851.69 บาท โอนเข้าบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 2675 แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 มอบเอกสารหมาย ล.13และหนังสือดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 1 นำเอกสารหมาย ล.13ไปถอนเงิน โดยไม่ได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อธนาคารเมื่อได้เงินแล้วก็พาเงินหลบหนีไป พิเคราะห์ใบถอนเงินเอกสารหมาย ล.13 แล้วปรากฏว่าเอกสารนี้ไม่ได้ระบุเลยว่าถอนเงินไปเพื่อโอนไปฝากในบัญชีกระแสรายวันตามความประสงค์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มอบฉันทะ ดังนั้นเอกสารฉบับนี้จึงเป็นใบถอนเงินเพื่อรับเงินสดไปจากธนาคาร หากจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความประสงค์จะถอนไปฝากยังบัญชีกระแสรายวันแล้วก็กระทำได้โดยง่าย โดยวิธีใดวิธีหนึ่งเช่น ระบุในใบถอนเงินว่าถอนไปฝากในบัญชีกระแสรายวันน ในกรณีเช่นนี้ธนาคารก็ไม่ต้องจ่ายเงินสดให้จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เพียงแต่โอนเงินไปเข้าบัญชีกระแสรายวันเท่านั้น ก็จะเป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 หรือจำเลยที่ 2 ทำหนังสือถึงธนาคารขอให้โอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำไปฝากในบัญชีกระแสรายวัน ก็น่าจะกระทำได้โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่จำเป็นต้องมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 ไปถอนเงิน นอกจากนี้ธนาคารก็น่าจะมีวิธีการมากมายที่จะโอนบัญชีเงินฝากดังกล่าวโดยไม่ต้องถอนเงินออกมาเป็นเงินสด การกระทำของจำเลยทั้งสองดังที่กล่าวแล้วเป็นการกระทำที่ไม่สมเหตุผลและบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำไปโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นช่องทางให้จำเลยที่ 1 ทุจริตเอาเงินที่ถอนไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวได้โดยง่าย หากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้ว ธนาคารก็ไม่ต้องจ่ายเงินสดให้จำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ก็จะไม่มีโอกาสทุจริตได้ อนึ่งตามสำเนาภาพถ่ายใบถอนเงินเอกสารหมาย ล.10 ถึง ล.12 ปรากฏว่าในการถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากประจำนี้นั้น เจ้าของบัญชีได้มอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินแทนทุกฉบับ เอกสารหมาย ล.11 เป็นการมอบฉันทะให้ถอนเงินเพียง 900 บาทเศษ และเอกสารหมาย ล.12 จำนวนเงินเพียง 300 บาทเศษ ผู้รับมอบฉันทะจึงมีเพียงจำเลยที่ 1 คนเดียว ส่วนเอกสารหมาย ล.10 นั้น เป็นการถอนเงินถึง 40,000 บาทเศษ ผู้รับมอบฉันทะจึงมี 2 คน คือจำเลยที่ 1และนายเจริญ นุ้ยนวล พยานโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานการเงินและการบัญชี สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเป็นข้าราชการระดับ 5 ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แสดงให้เห็นว่าในทางปฎิบัติที่แล้วมานั้น หากมีการถอนเงินก้อนใหญ่ออกจากบัญชีเงินฝากประจำนี้ ก็จะมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คอยควบคุมดูแลจำเลยที่ 1 มิให้กระทำการโดยทุจริตได้ แต่ปรากฏว่าในการมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 ไปถอนเงินตามเอกสารหมาย ล.13 ซึ่งเป็นการถอนจากบัญชีทั้งหมดเป็นเงินถึง 695,851.69 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 กลับมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินแต่ผู้เดียว เป็นการบ่งชี้ความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ยิ่งขึ้นไปอีก…เมื่อจำเลยที่ 6โทรศัพท์ถึงจำเลยที่ 3 นั้น จำเลยที่ 3 มิได้พูดถึงเรื่องนำเงินที่ถอนไปฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันเลย หากจำเลยที่ 3 ได้พูดถึงเรื่องดังกล่าวก็จะป้องกันการทุจริตของจำเลยที่ 1 ได้ การที่จำเลยที่ 3ละเลยไม่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว นับได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ที่นายรังสฤษดิ์ เชาวนศิริปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พยานโจทก์ เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3มีหน้าที่ไปถอนเงินด้วยตนเองนั้นมีเหตุผล เพราะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ลงนามเป็นผู้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำ จึงต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องการเก็บและรักษาเงินและการถอนเงินในบัญชี อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นว่า ในการถอนเงินนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 น่าจะมอบฉันทะให้ผู้อื่นทำการแทนได้ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องดูแลควบคุมและใช้วิธีการที่รัดกุมรอบคอบเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในกรณีนี้ เห็นได้ชัดว่ากระทำโดยประมาทเลินเล่อย่างร้ายแรง เปิดช่องให้จำเลยที่ 1 กระทำการถอนเงินแล้วเอกเงินสดหลบหนี้ไปโดยทุจริต จำเลยที่ 2 ที่ 3จึงกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม ทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหาย ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
สำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ได้นำใบถอนเงินเอกสารหมาย ล.13 ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 มอบฉันทะโดยถูกต้องแล้วมายื่นต่อธนาคารเพื่อขอรับเงินสดโดยจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นหนังสือของจำเลยที่ 2 ที่ให้นำเงินเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันเมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีสิทธิถอนเงินได้และมอบฉันทะมาโดยถูกต้องแล้ว การที่ธนาคารจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 6 จ่ายเงินสดให้จำเลยที่ 1 ไปจึงเป็นการกระทำตามหน้าที่ หาได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อแต่อย่างใดไม่ ในทางตรงกันข้ามหากจำเลยที่ 4 ไม่ยอมจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 กลับจะต้องถือว่าไม่กระทำตามหน้าที่ อนึ่ง การที่จำเลยที่ 6 มีความสงสัยว่าทำไมจึงขอรับเงินสดจำนวนมากไม่นำเข้าบัญชีเพื่อจ่ายเป็นเช็คแทน จึงโทรศัพท์ถามจำเลยที่ 1 ว่า จะถอนเป็นเงินสดไปทั้งหมดใช่ไหม จำเลยที่ 1 ตอบว่าใช่ ปรากฏตามบันทึกคำให้การพยานเอกสารหมาย จ.3 นั้น มิได้บ่งชี้ว่า จำเลยที่ 6 กระทำโดยประมาทเลินเล่อดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่ประการใด…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1ชดใช้เงินจำนวน 582,959.54 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2521 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 6ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับกันไปทุกฝ่ายทั้งสามศาล นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.