แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์มีหน้าที่ควบคุมหม้อกำเนิดไอน้ำ หากเครื่องของหม้อกำเนิดไอน้ำเกิดขัดข้องขึ้น และไม่มีผู้ใดปิดเครื่องอาจทำให้พลังไอน้ำที่อยู่ในเครื่องดันให้หม้อน้ำระเบิด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของจำเลยและชีวิตของลูกจ้างอื่นของจำเลยได้ เห็นได้ว่าการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปนั้น อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงขึ้นได้ ฉะนั้นแม้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จะไม่ได้ระบุว่าการละทิ้งหน้าที่ของโจทก์ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่และการละทิ้งหน้าที่ของโจทก์ยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานควบคุมหม้อกำเนิดไอน้ำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีความผิดถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 3,200 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 1,200 บาทค่าชดเชย 18,000 บาท และค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม18,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งผู้ควบคุมหม้อกำเนิดไอน้ำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง กล่าวคือโจทก์ตกลงทำงานล่วงเวลาให้แก่จำเลย ซึ่งโจทก์ได้ปั๊มบัตรลงเวลาทำงานแล้วไม่ได้มาทำงานล่วงเวลาให้เต็มเวลาที่ได้ปั๊มบัตรไว้เป็นผลให้โจทก์ได้รับค่าล่วงเวลาตลอดเวลาที่ปรากฏในบัตรปั๊มนั้นซึ่งความจริงแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในช่วงที่ไม่ได้ทำงาน ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ควบคุมหม้อกำเนิดไอน้ำ ซึ่งต้องมีความรู้โดยเฉพาะ และต้องอยู่ดูแลการทำงานตลอดเวลา แต่โจทก์ไม่อยู่ควบคุมหม้อกำเนิดไอน้ำให้สมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง อีกทั้งจำเลยได้เคยเตือนโจทก์เป็นหนังสือ เรื่องการละทิ้งหน้าที่จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีไปแล้วรวม 14 วัน โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งผู้ควบคุมหม้อกำเนิดไอน้ำ โจทก์ได้ตกลงทำงานล่วงเวลาให้จำเลยในวันที่ 20 กันยายน 2533 ตั้งแต่เวลา 20 นาฬิกา ถึงวันที่21 กันยายน 2533 เวลา 7.30 นาฬิกา โจทก์ได้มาทำงานในวันดังกล่าวโดยปั๊มบัตรลงเวลาเข้าทำงานตั้งแต่เวลา 20.04 นาฬิกา และปั๊มบัตรลงเวลาเลิกงานเวลา 7.30 นาฬิกา ของแต่ละวันดังกล่าว แต่ในช่วงเวลา1 ถึง 5 นาฬิกาของวันที่ 21 กันยายน 2533 โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่โดยได้ออกจากที่ทำงานไป และโจทก์ได้รับค่าทำงานล่วงเวลาในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ เป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้สำหรับตนเอง ถือว่าเป็นการทุจริต และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีโจทก์เบิกความว่าไม่ประสงค์เรียกร้องจากจำเลย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปดังกล่าวจะถือว่า เป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ มิใช่จะต้องพิจารณาเพียงเฉพาะตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าได้ระบุไว้ให้ถือว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ หรือพิจารณาว่าการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปนั้นได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้วอย่างไรหรือไม่ แต่จะต้องพิจารณาถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการละทิ้งหน้าที่ของโจทก์ประกอบด้วยซึ่งจากข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ได้ความว่าโจทก์มีหน้าที่ควบคุมหม้อกำเนิดไอน้ำ หากเครื่องของหม้อกำเนิดไอน้ำเกิดขัดข้องขึ้น และไม่มีผู้ใดปิดเครื่องอาจทำให้พลังไอน้ำที่อยู่ในเครื่องดันให้หม้อน้ำระเบิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของจำเลยและชีวิตของลูกจ้างอื่นของจำเลยได้ เห็นได้ว่าการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปนั้น อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงขึ้นได้จึงเห็นว่าแม้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย จ.1จะไม่ได้ระบุว่าการละทิ้งหน้าที่ของโจทก์ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ และการละทิ้งหน้าที่ของโจทก์ยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรง อุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นอื่นอีก เพราะแม้จะวินิจฉัยก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป…”
พิพากษายืน.