คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4286/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันแก่โจทก์ถ้าลูกหนี้ชั้นต้นไม่ชำระหนี้ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้รวมสามครั้ง แต่ในการทวงถามสองครั้งแรก ยังไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ชั้นต้นไม่ชำระหนี้ตามขั้นตอนในคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนั้น จำเลยชอบที่จะ ปฏิเสธไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามหนังสือทวงถามทั้งสองครั้งได้ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามโดยชอบเพียงครั้งเดียวยังไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(9)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา ที่ให้นางอรุณช่วยทอง ชำระเงิน 170,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีถ้านางอรุณไม่ชำระให้จำเลยชำระแทนในฐานะผู้ค้ำประกันโจทก์ส่งคำบังคับให้นางอรุณและจำเลยทราบแล้ว แต่นางอรุณได้ถึงแก่กรรมโจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้ทายาทของนางอรุณชำระหนี้ แต่ทายาทนางอรุณไม่ชำระ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้ว 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันมากกว่า 30 วัน แต่จำเลยไม่ชำระและจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยให้การว่า โจทก์เพียงแต่มีหนังสือทวงถามให้ทายาทของนางอรุณชำระหนี้ให้โจทก์ แต่โจทก์มิได้สืบหาทรัพย์หรือบังคับคดีเอาจากกองมรดกนางอรุณก่อน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย จำเลยมีอาชีพการงานดีและมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้ตามคำพิพากษา ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หักเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลย ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดค่าทนายความตามจำนวนที่เห็นสมควร

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “จำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกตามหนังสือทวงถามลงวันที่ 2ตุลาคม 2538 เอกสารหมาย จ.9 ครั้งที่สองตามหนังสือทวงถามลงวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2539 เอกสารหมาย จ.11 และครั้งที่สามลงวันที่ 22 ตุลาคม2539 เอกสารหมาย จ.7 หนังสือทวงถามครั้งแรกระบุว่าศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2538 ให้นางอรุณชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทนายความของโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามไปยังนางอรุณแล้วแต่นางอรุณไม่ยอมชำระและได้ถึงแก่กรรมแล้ว จึงให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันนำเงินตามคำพิพากษาศาลฎีกาไปชำระให้โจทก์ภายใน 15 วัน แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่านางอรุณได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ตั้งแต่เมื่อใด อันเป็นการแสดงให้เห็นว่านางอรุณไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งมีผลทำให้โจทก์สามารถเรียกให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นอกจากนี้สำเนารายงานการเดินหมายเอกสารหมาย จ.16 ที่พนักงานเดินหมายได้นำคำบังคับไปส่งให้นางอรุณก็ปรากฏว่านางอรุณได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่พนักงานเดินหมายได้ปิดหมายให้นางอรุณทราบคำบังคับแล้ว จึงถือไม่ได้ว่านางอรุณไม่ชำระหนี้ตามขั้นตอนในคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว โจทก์ยังเรียกให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามครั้งแรก และทวงถามซ้ำตามหนังสือทวงถามครั้งที่สอง จำเลยชอบที่จะปฏิเสธไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ได้ส่วนหนังสือทวงถามครั้งที่สามซึ่งเป็นการทวงถามหลังจากที่โจทก์ทวงถามให้ทายาทของนางอรุณชำระหนี้ และทายาทของนางอรุณไม่ชำระ แม้โจทก์จะปฏิบัติถูกต้องตามขั้นตอนในคำพิพากษาศาลฎีกาและจำเลยจะปฏิเสธการชำระหนี้ให้โจทก์ไม่ได้ก็ตาม แต่ก็เป็นการที่จำเลยได้รับหนังสือทวงถามโดยชอบเพียงครั้งเดียว กรณีจึงไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share