คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4284/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฯ ให้ความหมายของคำว่า ศาลาการเปรียญหมายถึงศาลาวัดสำหรับพระสงฆ์แสดงธรรม ศาลาการเปรียญจึงหาใช่สถานที่บูชาสาธารณะตามความหมายแห่งบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 335 (9) วรรคแรก คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า พระยอดขุนพลของกลางที่จำเลยเข้าไปลัก ขณะเกิดเหตุติดอยู่ที่แผงบริเวณเสาของศาลาการเปรียญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหานี้ไว้ด้วย จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหานี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ให้จำเลยคืนพระยอดขุนพลจำนวน 4 องค์ หรือใช้ราคาเป็นเงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (9) (ที่ถูก มาตรา 335 (9) วรรคแรก) ลงโทษจำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนพระยอดขุนพลจำนวน 4 องค์ หรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาเพียงว่า ศาลาการเปรียญที่เกิดเหตุเป็นสถานที่บูชาสาธารณะตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (9) วรรคแรกหรือไม่ เห็นว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายของคำว่า ศาลาการเปรียญ หมายถึง ศาลาวัดสำหรับพระสงฆ์แสดงธรรม ศาลาการเปรียญจึงหาใช่สถานที่บูชาสาธารณะตามความหมายแห่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าว คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า พระยอดขุนพลของกลางที่จำเลยเข้าไปลัก ขณะเกิดเหตุติดอยู่ที่แผงบริเวณเสาของศาลาการเปรียญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหานี้ไว้ด้วย จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหานี้ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share