คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การโอนทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 114 เป็นหน้าที่ของผู้รับโอนจะต้องแสดงให้พอใจศาลว่า การโอน กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน การที่ผู้คัดค้านเพิ่งทราบว่า จำเลยถูกฟ้องให้ล้มละลายและถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดภายหลัง จากจำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อม สิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แสดงว่าผู้คัดค้าน ไม่รู้ถึงการที่จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวมาก่อนจะจดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ให้ ผู้คัดค้านรับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ก่อนจำเลยถูกฟ้องล้มละลายประมาณ 1 ปี และหนี้ที่จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายเป็นหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันในมูลหนี้ที่เกิด จากบุคคลอื่นขายลดเช็คแก่โจทก์พฤติการณ์น่าเชื่อว่าการโอน ทรัพย์สินได้กระทำโดยสุจริต และการที่ผู้คัดค้านชำระค่าที่ดิน ให้จำเลยบางส่วนตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้วยังต้องนำเงินไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารก่อนจึงรับโอนกรรมสิทธิ์ ถือว่าผู้คัดค้านได้เสียค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 114ผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนการโอนไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2534 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2536 ขณะนี้ยังไม่พ้นภาวะล้มละลาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 22480 ตำบลวัดท่าพระ (เกาะท่าพระ) เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ เลขที่ 23/61 และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 3,935,216 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านซื้อทรัพย์สินตามคำร้องโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ของ ผู้ร้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 22480 ตำบลวัดท่าพระ (เกาะท่าพระ) เขตบางกอกใหญ่กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์เลขที่ 23/61ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดิน ระหว่างจำเลยกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเท็นเวลด์ ผู้คัดค้าน (ผู้รับโอน) และให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะเดิม ถ้าไม่สามารถกลับสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาเป็นเงิน 3,935,216 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทราบคำพิพากษานี้จนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2531 ผู้คัดค้านได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,000,000 บาท จากธนาคาร กสิกรไทย จำกัด สาขาจรัลสนิทวงศ์ 11 โดยจำเลยนำที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 22480 แขวงวัดท่าพระ (เกาะท่าพระ)เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างคืออาคารพาณิชย์เลขที่ 23/61 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ในวงเงิน 2,500,000 บาท ไว้แก่ธนาคารสาขาดังกล่าว และในปีเดียวกันจำเลยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้คัดค้านได้โอนขายหุ้นให้แก่นางสาวปราณีเป็นเงิน 300,000 บาท จากนั้นนางสาวปราณีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้คัดค้านและได้บริหารกิจการต่อมาจนกระทั่งวันที่ 6 มิถุนายน 2533 จำเลยได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทที่ติดจำนองไว้ดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้าน ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ร.3และสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.2 ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2534 โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลาย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2534 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนการขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 ได้หรือไม่เห็นว่า การโอนทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ (จำเลย) ได้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามมาตรา 114 นั้นเป็นหน้าที่ของผู้คัดค้าน (ผู้รับโอน) จะต้องแสดงให้พอใจศาลว่าการโอนได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน จึงมีข้อวินิจฉัยก่อนว่า การจดทะเบียนโอนขายที่ดินที่ผู้คัดค้านรับโอนจากจำเลยได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ ในข้อนี้มีนางสาวปราณีพยานผู้คัดค้านเบิกความว่า ผู้คัดค้านจดทะเบียนเลิกห้างแล้ว โดยมีพยานเป็นผู้ชำระบัญชีก่อนผู้คัดค้านจะเลิกห้าง พยานได้ซื้อหุ้นจากจำเลยเมื่อปี 2531 หลังจากพยานเข้าดำเนินกิจการแล้วดีขึ้น ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2532จึงได้เจรจาขอซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านโดยตกลงซื้อขายในราคา 1,800,000 บาท แบ่งชำระเป็น7 งวดพร้อมกับต้องรับภาระหนี้ที่จำเลยจำนองไว้กับธนาคารกสิกรไทยจำกัด ด้วย เมื่อรวมแล้วเป็นราคาที่ซื้อขายกัน 4,300,000 บาทปรากฏตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินเอกสารหมาย ร.9 หลังจากชำระเงินครบถ้วนแล้ว จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2533 พยานไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จากคำเบิกความของนางสาวปราณีดังกล่าวเห็นได้ว่า ก่อนจำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้าน ได้มีการทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดิน โดยมีการผ่อนชำระราคากันเป็นงวดนับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2532 เป็นต้นมาอาคารและที่ดินที่ซื้อขายก็ได้ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานทำธุรกิจของผู้คัดค้านเรื่อยมาจนกระทั่งมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 6 มิถุนายน 2533 แสดงว่าผู้คัดค้านได้ดำเนินธุรกิจด้วยดีไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สินในวันที่ผู้คัดค้านรับโอนจากจำเลยผู้คัดค้านยังจะต้องนำเงินไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารกสิกรไทยจำกัด เสียก่อนจึงจะโอนมาให้ผู้คัดค้านได้ หากนำเงินที่ต้องใช้ในการไถ่ถอนมารวมกับค่าที่ดินที่จำเลยขายในราคาอีก 1,800,000 บาท ก็จะเป็นเงินที่ซื้อขายกันไม่ต่ำกว่า 4,000,000 บาท ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 29 ตารางวา มีตึกแถวสี่ชั้นปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว จึงเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติ ส่วนผู้ร้องมีเพียงนายอาคม จันทรวิจิตร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า จากการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำนวนเงินที่ชำระให้เป็นค่าที่ดินนั้นผู้คัดค้านไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นได้ว่าเป็นเงินของผู้คัดค้าน เพราะผู้คัดค้านมีทุนจดทะเบียนไว้เพียง 500,000 บาท เท่านั้น ที่ผู้ร้องนำสืบดังกล่าวไม่ได้โต้แย้งในกรณีที่ผู้คัดค้านได้รับโอนมาโดยไม่สุจริตแต่ประการใดและคำว่าสุจริตในมาตรา 114 ดังกล่าว ย่อมหมายถึงผู้คัดค้านในฐานะผู้รับโอนมิได้ทราบถึงภาระหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยผู้ล้มละลายข้อเท็จจริงจึงฟังตามคำพยานของนางสาวปราณี ดังกล่าวได้ดังนี้ การที่ผู้คัดค้านเพิ่งทราบว่าจำเลยถูกฟ้องให้ล้มละลายและถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดภายหลังจากจำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านแล้วแสดงว่าผู้คัดค้านไม่รู้ถึงการที่จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวมาก่อนจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ ผู้คัดค้านมิได้เป็นเครือญาติกับจำเลย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในทางซื้อหุ้นจากจำเลยแล้วเข้าดำเนินกิจการต่อมาและในการที่ผู้คัดค้านชำระค่าที่ดินให้จำเลยบางส่วนตามสัญญาจะซื้อจะขายแล้วยังต้องนำเงินไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารกสิกรไทย จำกัดก่อนจึงรับโอนกรรมสิทธิ์ ต้องถือว่าผู้คัดค้านได้เสียค่าตอบแทนแล้วตามนัยแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114เมื่อผู้คัดค้านรับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2533 แต่จำเลยเพิ่งถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2534 นับระยะเวลาได้ประมาณ 1 ปี และหนี้ที่จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายก็ปรากฏว่าเป็นผู้ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันในมูลหนี้ที่เกิดจากบุคคลอื่นขายลดเช็คให้แก่โจทก์ พฤติการณ์น่าเชื่อว่า การโอนทรัพย์สินดังกล่าวกระทำโดยสุจริต ผู้คัดค้านไม่รู้ถึงภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยพยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่นำสืบแสดงให้พอใจศาลได้ว่าผู้คัดค้านรับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยดังกล่าวไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนผู้ร้องจะร้องขอให้เพิกถอนการโอนรายนี้ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ของ ผู้ร้อง

Share