คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2466 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องเอาโทษ แต่การชำระค่าสินบนตามมาตรา 3 พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2477 ไม่ใช่โทษทั้งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินค่าสินบนขึ้นโดยเฉพาะหาอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 39 ไม่ จึงไม่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจร้องขอ สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินบนในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 แห่งเงินค่าปรับ ย่อมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จับผู้นำจับ หรือ แจ้งความจับเท่านั้นที่จะร้องขอต่อศาลได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ทำการค้า ได้บังอาจใช้เครื่องชั่งที่ไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุกประการของพระราชบัญญัติมาตรา ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาใช้ทำการค้าปลา ทำให้ผู้ซื้อเสียเปรียบ เพื่อเอาเปรียบทางการค้าของจำเลย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรา ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 3, 12, 31 พระราชบัญญัติมาตรา ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 ริบของกลาง และให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 ซึ่งเป็นบทหนัก ลดรับสารภาพตามมาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก 3 เดือน และปรับ 500 บาท ของกลางริบ ให้จำเลยจ่ายเงินค่าสินบนนำจับตามกฎหมายร้อยละ 20 ด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้รอการลงโทษจำคุก ส่วนเรื่องค่าสินบนเห็นว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการฟ้องเรียกให้แก่ผู้นำจับได้ จึงให้ยกคำขอข้อนี้

โจทก์ฎีกา

คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ตามพระราชบัญญัติมาตรา ชั่งตวง วัด พ.ศ. 2466 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 มาตรา 3 นั้นพนักงาน อัยการจะมีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งจำเลยจ่ายเงินค่าสินบนแก่ผู้จับหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา 3 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29, 30, 31, 32, 33, 34, 35 และ 36 และได้ถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษ ท่านว่าผู้กระทำผิดนั้น ๆ จะต้องชำระเงินค่าสินบนให้แก่ผู้จับ นำจับ หรือนำความมาแจ้งต่อเจ้าพนักงาน ในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 แห่งเงินค่าปรับ เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควร” บทบัญญัติดังกล่าวนี้กำหนดให้จำเลยผู้กระทำความผิดต่อมาตราต่าง ๆ ดังที่ระบุไว้นั้น เมื่อถูกศาลพิพากษาลงโทษ จะต้องถูกผูกพันจ่ายค่าสินบนแก่ผู้จับผู้นำจับ หรือนำความแจ้งจับด้วย แต่มิได้มีข้อความตอนใดให้อำนาจแก่พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลสั่งจำเลยจ่ายเงินค่าสินบนเลย ที่โจทก์อ้างว่ามาตรา 3 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติมาตรา ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 ย่อมต้องอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 39 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานของกรมอัยการฟ้องผู้กระทำผิด ก็ย่อมมีหน้าที่ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินค่าสินบนด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 39 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องเอาโทษ แต่การชำระเงินค่าสินบนตามมาตรา 3 ไม่ใช่โทษ ทั้งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินค่าสินบนขึ้นโดยเฉพาะ หาอยู่ในบังคับแห่ง มาตรา 39 ไม่ จึงไม่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจร้องขอ สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินบนในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 แห่งเงินค่าปรับ ย่อมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จับ ผู้นำจับ หรือแจ้งความจับเท่านั้น ที่จะร้องขอต่อศาลได้

พิพากษายืน

Share