คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 887/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ตกลงจ้างพวกผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวอีสานให้เป็นคนงานทำหน้าที่ปลูกมันสำปะหลังและอ้อยตัดอ้อย และดายหญ้าในไร่ของจำเลย แล้วพวกจำเลยควบคุมบังคับพวกผู้เสียหายตลอดเวลามิให้ไปไหนมาไหนโดยอิสระกักขังให้หลับนอนในเรือนพักภายในไร่ มีกลอนและโซ่คล้องใส่กุญแจไว้ภายนอกห้อง หากต้องการออกไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็ต้องขออนุญาต และมียามคอยเฝ้าคุมอยู่ตลอดเวลา เมื่อทำงานล่าช้าก็จะถูกตีเตะทำร้ายทั้งถูกขู่เข็ญมิให้หลบหนี มิฉะนั้นจะถูกยิง ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 และสำหรับจำเลยที่ทำร้ายร่างกายพวกผู้เสียหายย่อมมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายรวม 35 คน ให้ทำงานในไร่ตลอดเวลา ไม่ให้ไปไหนมาไหนโดยเสรี เวลากลางคืนก็กักขังไว้ในเรือนพัก โดยลงกลอนภายนอกกักขังไว้ ทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และจำเลยบางคนกับพวกยังได้เตะตีทำร้ายพวกผู้เสียหายหลายคน จนบางคนเกิดอันตรายแก่กาย และบางคนไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310, 295, 391, 83

จำเลยทุกคนให้การปฎิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทุกคนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 ให้จำคุกคนละ 2 ปี สำหรับจำเลยที่ 4 มีความผิดตามมาตรา 295 และมาตรา 391 ด้วย แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 310 กระทงหนักแต่กระทงเดียว ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 มีความเห็นแย้งว่า พยานโจทก์แตกต่างกันควรยกฟ้องและมีคำสั่งอนุญาตล่วงหน้าให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

จำเลยที่ 1, 2, 4 และ 5 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง แต่ให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 จำคุก 6 เดือน และลงโทษปรับ 300 บาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทุกคน

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้จ้างพวกผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวอีสานให้เป็นคนงานทำหน้าที่ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย ตัดอ้อย และดายหญ้าในไร่ของจำเลย แล้วพวกจำเลยคอยควบคุมบังคับพวกผู้เสียหายตลอดเวลามิให้ไปไหนมาไหนโดยอิสระ กักขังให้หลับนอนในเรือนคนงานภายในไร่ เรือนคนงานไม่มีหน้าต่าง มีแต่ประตูใส่กลอนภายนอก บางคราวล่ามโซ่ใส่กุญแจภายนอกด้วย เวลาจะไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ก็ต้องขออนุญาต และมีคนคุมเวลาทำงานก็มีพวกจำเลยถืออาวุธปืนบ้าง มีดบ้าง คอยบังคับข่มขู่ให้ทำงาน ขู่เข็ญมิให้หลบหนี มิฉะนั้นจะถูกยิง หากทำงานล่าช้าก็จะถูกตี เตะ ทำร้าย เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 และสำหรับจำเลยที่ทำร้ายร่างกายพวกผู้เสียหายย่อมต้องมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย

การที่จำเลยนำสืบว่า ผู้เสียหายหรือคนงานมีสิทธิดูโทรทัศน์หรือตามที่มีความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ว่า เมื่อมีการทำสัญญาตกลงทำงานให้ผู้อื่นโดยได้รับสินจ้างเช่นคดีนี้เสรีภาพต้องถูกจำกัดลง คือต้องอยู่ในระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง ข้อนี้ศาลฎีกาก็เห็นว่าไม่เป็นการถูกต้องทั้งหมด คือเสรีภาพอาจต้องถูกจำกัดลงบ้าง เพราะเกิดมีหน้าที่ตามสัญญาจ้างขึ้นแทน แต่ก็หาใช่ว่าต้องถึงกับถูกควบคุมตัว ห้องที่พักนอนต้องถูกใส่กลอนภายนอกหรือล่ามโซ่ใส่กุญแจ จะไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะต้องมีคนควบคุมเช่นคดีนี้ไม่ การมีสิทธิดูโทรทัศน์ก็ดีหรือการได้รับการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วยก็ดี ก็ไม่ทำให้การกักขังหรือควบคุมที่ปฎิบัติต่อผู้เสียหายอันเป็นผิดอยู่แล้วกลายเป็นไม่ผิดไม่ได้ เพราะตราบใดที่บุคคลไปไหนมาไหนไม่ได้ตามชอบใจ แม้จะอยู่ดีกินดีเพียงไร ก็เรียกว่าบุคคลนั้นถูกกระทำให้ไร้อิสรภาพหรือปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 อยู่นั่นเอง

พิพากษาแก้เป็นให้บังคับคดีลงโทษจำเลยทุกคนไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share