คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1995/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันลักกำไลข้อมือเพชร แหวนเพชร 2 วง จี้เพชรและสร้อยคอทองคำ หรือรับของโจรแหวนเพชร โดยจำเลยนำแหวนเพชร 1 วงที่ถูกลักนั้นไปขาย ฟ้องดังนี้มิได้ยืนยันว่าจำเลยกระทำผิดทั้งสองฐาน แต่บรรยายข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้ศาลวินิจฉัยลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งเท่าที่ทางพิจารณาได้ความ ฟ้องโจทก์ไม่ขัดกันแต่อย่างใด
เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาปรากฏว่าทรัพย์ที่จำเลยเอาไปขายเป็นกำไลข้อมือเพชร หาใช่แหวนเพชรดังที่กล่าวในฟ้องไม่ ก็เป็นเรื่องโจทก์ระบุตัวทรัพย์ผิดพลาดเพราะโจทก์ได้ระบุด้วยว่าของกลางมีราคาเท่าใด ซึ่งเป็นราคาของกำไลข้อมือเพชร และว่าเป็นทรัพย์ชิ้นหนึ่งในบรรดาทรัพย์ที่หายไปข้อแตกต่างในเรื่องตัวทรัพย์เพียงเท่านี้ยังไม่พอจะถือว่าเป็นข้อแตกต่างในข้อสารสำคัญ และเมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ศาลย่อมลงโทษจำเลยได้ (วรรคสอง วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 14/2518)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายลักกำไลข้อมือเพชร 2 เส้น ราคา 36,000 บาทแหวนเพชร 2 วง วงหนึ่งราคา 55,000 บาท อีกวงหนึ่งราคา 5,500 บาท จี้เพชร 1 อัน ราคา 6,500 บาท และสร้อยคอทองคำ 1 เส้น ราคา 4,000 บาทของผู้เสียหายไป ต่อมาจำเลยได้นำแหวนเพชร 1 วง ราคา 18,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ชิ้นหนึ่งในจำนวนทรัพย์ที่ถูกคนร้ายลักไปดังกล่าวไปขายให้แก่ผู้มีชื่อ พนักงานสอบสวนได้อายัดไว้เป็นของกลาง ทั้งนี้ โดยจำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ทั้งหมดไปหรือมิฉะนั้นจำเลยก็รับของโจรทรัพย์ของกลางไว้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357, 83 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 89,000 บาทแก่เจ้าทรัพย์

จำเลยให้การปฏิเสธ

นางดวงเดือน สุทธิบุตร ผู้เสียหายขอเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต

ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยช่วยจำหน่ายสร้อยข้อมือเพชร 1 เส้นของเจ้าทรัพย์ ที่ถูกคนร้ายลักไปโดยรู้แล้วว่าเป็นของคนร้ายได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจับแหวนเพชรได้ 1 วง แต่ตามทางพิจารณาได้ความว่าจับสร้อยข้อมือเพชรได้ 1 เส้นเป็นข้อแตกต่างที่ไม่เป็นสารสำคัญ ทั้งจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ฟ้องโจทก์ไม่เสียไปพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ให้จำคุก 2 ปี จำเลยรับสร้อยข้อมือเพชรเส้นเดียว ซึ่งเจ้าทรัพย์ได้รับคืนไปแล้ว จึงให้ยกคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าทรัพย์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อที่ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาแตกต่างกับที่โจทก์กล่าวในฟ้องจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อแรกว่า โจทก์ฟ้องว่ามีคนร้ายลักเครื่องเพชรของโจทก์ร่วมไปหลายอย่าง ต่อมาก็ได้เครื่องเพชรอย่างหนึ่งที่จำเลยนำไปจำหน่ายเป็นของกลาง เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นผู้ลักเครื่องเพชรทั้งหมดที่หายไป หรือมิฉะนั้นก็เป็นผู้รับของโจรเครื่องเพชรของกลาง ฟ้องดังนี้มิได้ยืนยันว่าจำเลยกระทำผิดทั้งสองฐาน แต่บรรยายข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้ศาลวินิจฉัยลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งเท่าที่ทางพิจารณาได้ความ ฟ้องโจทก์ไม่ขัดกันแต่อย่างใด

ในปัญหาข้อหลัง ศาลฎีกาได้พิจารณาปัญหาข้อนี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้วโจทก์ฟ้องว่าเครื่องเพชรของโจทก์ร่วมหายไปหลายอย่างรวมทั้งแหวนเพชรและกำไลข้อมือเพชร ของชิ้นใดมีราคาเท่าใดก็ได้ระบุไว้แล้วโดยเฉพาะแหวนเพชรกับกำไลข้อมือเพชรนั้นมีราคาแตกต่างกันมากส่วนเครื่องเพชรที่จำเลยนำไปขายนั้น ถึงแม้โจทก์จะระบุตัวทรัพย์ว่าเป็นแหวน แต่ก็ระบุไว้ด้วยว่าของชิ้นนี้มีราคา 18,000 บาท อันเป็นราคาของกำไลข้อมือเพชร และว่าเป็นทรัพย์ชิ้นหนึ่งในบรรดาทรัพย์ที่หายไป เห็นได้ว่าเป็นเรื่องโจทก์ระบุตัวทรัพย์ผิดพลาดแทนที่จะระบุว่ากำไลข้อมือเพชร กลับระบุว่าแหวนเพชร ข้อแตกต่างเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอจะถือว่าเป็นข้อแตกต่างในข้อสารสำคัญและเมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยได้

พิพากษายืน

Share