แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะเป็นผิดฐานแจ้งความเท็จนั้น จำเลยต้องแย้งโดยรู้อยู่ว่า ถ้อยคำของจำเลยที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ มิฉะนั้นไม่ผิดฐานนี้ เพราะถือว่าจำเลยที่แจ้งความเท็จโดยไม่รู้ว่าถ้อยคำของตนเป็นเท็จนั้นมิได้มีเจตนากระทำผิดทางอาญา
ย่อยาว
ความว่า จำเลยกับพลตำรวจอีก 2 คนนำผู้ต้องหา 3 คนเพื่อไปส่งอัยการจังหวัด ระหว่างทางพลตำรวจอีก 2 คนคุมผู้ต้องหาอีก 2 คน แยกทางไปแวะบ้านพวกพ้องผู้ต้องหา จำเลยคงคุมผู้ต้องหาคนหนึ่งมาก่อนนัดกันให้ไปคอยข้างหน้า บังเอิญผู้ต้องหาที่พากันแยกไปบางคนป่วยจำเลยคอยอยู่ 1 คืนกับครึ่งวันเห็นผิดนัดก็คุมผู้ต้องหาคนเดียวนั้นไปส่งอัยการ ๆ ถามถึงผู้ต้องหาอีก 2 คนนั้น ตอนนี้คำพยานโจทก์และคำจำเลยโต้เถียงกัน โจทก์ฟ้องว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อพนักงานอัยการว่า ร. กับ จ. ผู้ต้องหา 2 คนนั้นหลบหนีเสียระหว่างทางคงเหลือคนเดียว จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้ว่า ได้ตอบอัยการว่าน่ากลัวจะหนีระหว่างทางเพราะไม่เห็นมาตามนัด
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 118แก้ไขเพิ่มเติม 2477 (ฉบับที่ 3) มาตรา 3 จำคุก 15 วัน ปรับ 40 บาท ยกโทษจำ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พนักงานอัยการจังหวัดให้การว่าทางอัยการไม่เสียหายในหน้าที่ราชการอย่างไร นอกนั้นไม่ได้ความว่าสาธารณชนหรือบุคคลใดอาจเสียหายอีก จำเลยยังไม่มีผิด พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังดังกล่าว เห็นว่าคำแจ้งของจำเลยจะเป็นเท็จหรือไม่ยังโต้เถียงกันอยู่ แต่ถึงแม้จะฟังว่าเป็นเท็จ คดีก็ยังไม่ได้ความว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่า ถ้อยคำของจำเลยเป็นความเท็จ ตามรูปคดีแสดงว่าจำเลยกล่าวโดยเชื่อว่าเป็นความจริงด้วยซ้ำ และเห็นว่าตามคำพยานโจทก์แสดงอยู่ว่า จำเลยมิได้มีเจตนากระทำผิดทางอาญา
พิพากษายืน