แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 1350 ไม่ได้กำหนดถึงการสิ้นสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านไว้ แม้โจทก์ใช้ที่ดินของบุคคลอื่นเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเอาทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยตามมาตรา 1350 หมดไปโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นจากที่ดินของจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7276 ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7427 ตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว (บางคล้า) จังหวัดฉะเชิงเทรา เดิมที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงเดียวกันของนายยก กับนางตุ๊ดหรือน้อย ต่อมาบุคคลทั้งสองแบ่งแยกที่ดินออกเป็นสองแปลงแล้วต่างยกให้บุตรคือนางสังวี มารดาโจทก์ และนายมงคล สามีจำเลย ทำให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เนื่องจากที่ดินของจำเลยขวางกั้นทางด้านทิศตะวันตก จำเลยและนายมงคลจึงตกลงให้โจทก์ทำถนนผ่านที่ดินของจำเลยกว้าง 3 เมตร ยาว 24 เมตร เพื่อเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2541 จำเลยปิดกั้นทางดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนเสาไม้แก่น ลวดหนามที่ขึงขวางทางพิพาทและต้นไม้ที่ปลูกบนทางพิพาทออก กับปรับปรุงทางพิพาทให้อยู่ในสภาพเดิม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนได้เอง ห้ามจำเลยกับบริวารขัดขวางการใช้ทางพิพาท และให้จำเลยจดทะเบียนทางจำเป็นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นของบิดามารดานางสังวี มารดาโจทก์ และนายมงคล สามีจำเลย ตามลำดับ ไม่ได้เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน โจทก์ มารดาโจทก์และบริวารไม่ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่ใช้ที่ดินของนางบุญชูหรือชูเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะตลอดมา ต่อมาโจทก์และบริวารขออนุญาตจำเลยและสามีจำเลยใช้ทางพิพาทเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะด้วย ซึ่งโจทก์และบริวารสามารถออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินของนางบุญชูได้อยู่แล้ว โจทก์ฟ้องคดีโดยใช้สิทธิไม่สุจริตขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนเสาไม้แก่น ลวดหนามและต้นไม้ออกจากทางพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารขัดขวางการใช้ทางพิพาทของโจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยจำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า เดิมที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมีทางออกสู่ทางสาธารณะ ต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นสองแปลงทำให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ต่อมาจำเลยปิดทางพิพาท โจทก์และบริวารไม่ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ที่จำเลยฎีกาทำนองว่า โจทก์และบริวารไม่ได้ใช้ทางพิพาทตั้งแต่มีการแบ่งแยกที่ดินกันแล้ว โดยโจทก์และบริวารใช้ที่ดินของนางบุญชูเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเอาทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 จึงหมดไปแล้ว โจทก์ชอบที่จะไปเรียกร้องเอาทางเดินผ่านจากที่ดินของนางบุญชู เท่านั้น โจทก์หามีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านจากที่ดินของจำเลยได้ไม่นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 เป็นบทบัญญัติที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าของที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันซึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเท่านั้นจะเรียกร้องเอาทางเดินผ่านจากที่ดินแปลงอื่นหาได้ไม่ ทั้งกฎหมายก็หาได้กำหนดถึงการสิ้นสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ไว้แต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์และบริวารจะได้ใช้ที่ดินของนางบุญชูเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะดังจำเลยอ้าง ก็หาทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเอาทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยตามมาตรา 1350 ดังกล่าวหมดไปไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางพิพาทเป็นทางจำเป็นจากที่ดินของจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนเสาไม้แก่นออกจากทางพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารขัดขวางการใช้ทางพิพาทของโจทก์นั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาทแทนโจทก์