คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ฯลฯ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดการที่โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับซึ่งจำเลยทั้งสองออกเพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดโจทก์ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” เป็นที่เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกด้วยแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ เพื่อให้การวินิจฉัยกำหนดโทษของจำเลยทั้งสองเป็นไปตามลำดับศาล เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2536 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาสำนักราชดำเนิน จำนวน 2 ฉบับ มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็น โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เช็คฉบับแรกลงวันที่ 20 สิงหาคม 2536 จำนวนเงิน 30,000 บาท เช็คฉบับที่สองลงวันที่ 20 กันยายน 2536 จำนวนเงิน 280,000 บาท เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับโดยให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ทั้งนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น หรือออกเช็คในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น หรือถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้ เหตุเกิดที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูกมาตรา 4 (1) (2) (3) และ (4)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 เดือน รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมายถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้นผู้ออกเช็คมีความผิด ฯลฯ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับซึ่งจำเลยทั้งสองออกเพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดโจทก์ได้นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” เป็นที่เห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หาเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นแต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกด้วย แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ เพื่อให้การวินิจฉัยกำหนดโทษของจำเลยทั้งสองเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4″
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share