แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
“ผู้ขนส่งอื่น” ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 วรรคสอง มีอยู่ 2 ประเภท คือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งของตามสัญญารับขนของทางทะเลประเภทหนึ่ง และบุคคลอื่นซึ่งผู้ขนส่งอื่นได้มอบหมายช่วงต่อไปให้ทำการขนส่งของนั้นอีกประเภทหนึ่ง แต่บุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเลให้เป็นตัวแทนผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเลนั้นไม่ถือว่าเป็นผู้ขนส่งอื่นด้วย
เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้ทำการขนส่งของตามสัญญารับขนของทางทะเล แต่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการติดต่อว่าจ้างผู้รับเหมาให้ขนถ่ายสินค้าบางส่วนลงเรือฉลอมที่เกาะสีชังเพื่อให้เรือ ฟ. มีน้ำหนักเบาแล้วนำสินค้าเข้ามาที่ท่าเรือกรุงเทพ เพื่อให้การรับขนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ขนส่งอื่นตามความหมายของพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันขนส่งสินค้าเกลือผลึกโซเดียมซัลเฟต อันไฮดรัสซึ่งบริษัท ป.เจริญพันธ์ เพรสติจโอเวอร์ซี จำกัด สั่งซื้อจากบริษัทเพรสติจคอมมอดิตี้สจำกัด ผู้ขาย และผู้ขายได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงให้ขนส่งสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังกรุงเทพมหานคร โดยทางเรือเดินทะเลชื่อเรือแฟล็กมาร์ส โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าดังกล่าวจากบริษัท ป.เจริญพันธ์ เพรสติจโอเวอร์ซี จำกัด มีข้อตกลงว่าหากสินค้าได้รับความเสียหายหรือสูญหายอย่างหนึ่งอย่างใด โจทก์จะชดใช้ค่าเสียหายให้ เรือแฟล็กมาร์สเดินทางมาถึงเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรีแล้ว หลังจากนั้นได้ขนถ่ายสินค้าลงเรือฉลอมรวม 2 ลำ เพื่อขนส่งมายังกรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบชำระค่าจ้าง เมื่อเรือฉลอมทั้งสองลำและเรือแฟล็กมาร์ส เดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครได้ขนถ่ายสินค้าส่งมอบให้แก่ผู้เอาประกันภัย แต่สินค้าที่ส่งมอบไม่ครบและสูญหายไปคิดเป็นมูลค่าความเสียหายตามสัดส่วนที่เอาประกันภัยเป็นเงิน 78,452.45 บาท จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดในค่าเสียหายจำนวนนี้ ผู้เอาประกันภัยทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายรายนี้ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ผู้เอาประกันภัยจึงเรียกร้องจากโจทก์ และโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยแล้วโจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิ และทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 83,111.24 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 78,452.45 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการนำเรือแฟล็กมาร์สเข้ามาในประเทศไทย จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ชำระค่าจ้างขนถ่ายสินค้าจากเกาะสีชังมายังกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าเอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 78,452.45 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 4,658.79 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับให้จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงข้อเดียวว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งอื่นตามความหมายของพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ในการขนส่งสินค้ารายพิพาททางทะเลจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังท่าเรือกรุงเทพโดยเรือแฟล็กมาร์สนั้น เมื่อเรือดังกล่าวซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ กินร่องน้ำลึก เดินทางมาถึงเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ต้องมีการขนถ่ายสินค้าบางส่วนขึ้นจากเรือเพื่อให้เรือมีน้ำหนักเบาสามารถแล่นเข้ามายังท่าเรือกรุงเทพได้ และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อว่าจ้างผู้รับเหมาให้ขนถ่ายสินค้าลงเรือฉลอมที่เกาะสีชังแล้วนำเข้ามาที่ท่าเรือกรุงเทพในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 เห็นว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 วรรคสองบัญญัติว่า “ผู้ขนส่งอื่น หมายความว่า บุคคลซึ่งมิได้เป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของในสัญญารับขนของทางทะเล แต่ได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งของตามสัญญานั้น แม้เพียงช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่งและให้หมายความรวมถึงบุคคลอื่นใดซึ่งผู้ขนส่งอื่นได้มอบหมายช่วงต่อไปให้ทำการขนส่งของนั้นด้วย ไม่ว่าจะมีการมอบหมายช่วงกันไปกี่ทอดก็ตาม แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเล ให้เป็นตัวแทนผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นในการดำเนินการอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเล เช่น พิธีการเข้าเมืองพิธีการศุลกากร การนำร่อง การเข้าท่า การออกจากท่า การบรรทุกของลงเรือ การขนถ่ายของขึ้นจากเรือหรือการส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่ง เป็นต้น” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า “ผู้ขนส่งอื่น” มีอยู่ 2 ประเภท คือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งของตามสัญญารับขนของทางทะเลประเภทหนึ่ง และบุคคลอื่น ซึ่งผู้ขนส่งอื่นได้มอบหมายช่วงต่อไปให้ทำการขนส่งของนั้นอีกประเภทหนึ่ง แต่บุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเลให้เป็นตัวแทนผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจ เนื่องจากการรับขนของทางทะเลนั้นไม่ถือว่าเป็นผู้ขนส่งอื่นด้วย ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้ทำการขนส่งของตามสัญญารับขนของทางทะเลและได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการติดต่อว่าจ้างผู้รับเหมาให้ขนถ่ายสินค้าบางส่วนลงเรือฉลอมที่เกาะสีชัง เพื่อให้เรือแฟล็กมาร์สมีน้ำหนักเบาแล้วนำสินค้าเข้ามาที่ท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการกระทำภายในขอบอำนาจของตัวแทนเพื่อให้การรับขนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ขนส่งอื่นตามความหมายของพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 วรรคสอง ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์