แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับลงวันที่ 19 กันยายน2519 เรื่อง กำหนดกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5(7) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และประกาศกระทรวงการคลังฉบับลงวันที่ 19 กันยายน 2519เรื่องกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้ประกอบกิจการที่ต้องขออนุญาต ฯ ใช้บังคับ บริษัทที่ประกอบธุรกิจเงินทุนจะต้องยื่นคำขอรับอนุญาตภายใน 60 วัน และจะมีสาขาไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถ้าบริษัทใดมีสาขาอยู่แล้วและประสงค์จะมีสาขานั้นต่อไปก็ให้ยื่นคำขอรับอนุญาตไปพร้อมกันด้วย บริษัทจำเลยที่ 2 เปิดสาขาหลังจากวันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับแล้วโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ข้อ 5(7),16
การที่โจทก์ร่วมและผู้มีชื่อเป็นผู้ช่วยผู้จัดการและผู้จัดการสาขาของบริษัทจำเลยที่ 2 หลงเชื่อในคำหลอกลวงของจำเลยจึงได้ร่วมกันเปิดกิจการสาขาของบริษัทจำเลยที่ 2 และชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาฝากบริษัทจำเลยที่ 2 ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วม ผู้มีชื่อ และประชาชนผู้นำเงินมาฝากมีส่วนร่วมกระทำความผิดและไม่ใช่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกาว่า การที่ผู้เสียหายนำเงินมาฝากเพราะเชื่อถือในบริษัทจำเลยที่ 2 จึงหาใช่มูลกรณีอันจะเป็นความผิดทางอาญาไม่ และบริษัทจำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจด้วยความบริสุทธิ์ มิได้หลอกลวงประชาชน จึงไม่มีความผิดเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินคนละ 5 ปีฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยข้อนี้ไว้จึงไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5(7),16 ย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยเปิดสาขาประกอบธุรกิจเงินทุนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นคนละกรรมต่างหากจากความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขเฉพาะการปรับบทเรียงกระทงให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันเปิดสาขาของบริษัทจำเลยจที่ 2 ประกอบธุรกิจเงินทุนโดยไม่ได้รับอนุญษตและฉ้อโกงประชาชน ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 5(7). 7, 8, 16 ประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่19 กันยายน 2515 ข้อ 5 เรื่องกำหนดเงื่อนไขในการขออนุญาตให้ประกอบกิจการที่ต้องขออนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดตามฟ้อง ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ซึ่งเป็นบทหนัก
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาว่า ในระหว่างที่บริษัทจำเลยที่ 2ยื่นคำขอรับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง จำเลยที่ 2 มีสิทธิเปิดสำนักงานสาขาได้นั้นตามประกาศกระทรวงการคลัง ข้อ 5 ลงวันที่ 18 กันยายน 2515 เรื่อง กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้ประกอบกิจการที่ต้องขออนุญาตตาม ข้อ 5(7) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ได้กำหนดไว้ว่า บริษัทเงินทุนอาจมีสาขาได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ตามประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับนี้ข้อ 21 ได้กำหนดไว้ว่า บริษัทจำกัดจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ประกอบธุรกิจเงินทุนอยู่ในวันที่ประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 19 กันยายน 2515 เรื่อง กำหนดกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5(7) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะประกอบกิจการนั้นต่อไป ให้ยื่นคำขอรับอนุญาตภายในหกสิบวัน นับแต่รัฐมนตรีประกาศกำหนดกิจการที่ต้องขออนุญาต และในข้อ 23 ได้กำหนดไว้อีกว่า บริษัทจำกัดที่ยื่นคำขอรับอนุญษตตามข้อ 21 ที่มีสาขาซึ่งประกอบธุรกิจอยู่แล้วในวันที่ประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 19 กันยายน 2515 เรื่อง กำหนดกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5(7) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะมีสาขานั้นต่อไป ให้ยื่นคำขอรับอนุญาตพร้อมกับคำขอรับอนุญาตตามข้อ 21 ตามประกาศกระทรวงการคลังข้อ 5 ข้อ 21 และข้อ 24 ดังกล่าวแล้วนั้นย่อมหมายความว่า นับตั้งแต่วันที่ประากศกระทรวงการคลัง (ฉบับแรก) ลงวันที่ 19 กันยายน 2515 เรื่อง กำหนดกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5(7) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ใช้บังคับบริษัทใดจะมีสาขาประกอบธุรกิจเงินทุนได้จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นับตั้งแต่ประกาศกระทรวงการคลังฉบับแรกใช้บังคับนั้น บริษัทที่ประกอบธุรกิจเงินทุนจะมีสาขาไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถ้าบริษัทใดมีสาขาอยู่แล้วในขณะที่ประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว (ฉบับแรก) ใช้บังคับ ก็ให้ยื่นคำขอรับอนุญาตพร้อมกับคำขอรับอนุญาตในข้อ 21 ประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 19 กันยายน2515 เรื่อง กำหนดกิจการที่ต้องขออนุญาต ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่22 กันยายน 2515 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2515 เป็นต้นไป ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 2 ได้เปิดสาขาในระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2516 ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2517ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวใช้บังคับแล้ว และเป็นการเปิดสาขาโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ข้อ 5(7) และข้อ 16 ประกาศกระทรวงการคลัง ข้อ 5 ลงวันที่ 19 กันยายน 2515 เรื่อง กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้ประกอบกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5(7) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ตามโจทก์ฟ้อง ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อ้างว่าบริษัทจำเลยที่ 2มีสิทธิเปิดสาขาได้นั้นฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่ว่านายโกศัย นายนิมิตร เรือเอกพีระยุทธ นางบุญสม โจทก์ร่วมและผู้ที่นำเงินมาฝากไม่ใช่ผู้เสียหายนั้น ปรากฏว่านางจำนงค์เป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาขาลาดพร้าว นายนิมิตรเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาขาเสนา เรือเอกพีระยุทธเป็นผู้จัดการสาขาบ้านฉาง โดยมีนางบุญสมเป็นรองผู้จัดการ โจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาขานนทบุรี การที่บุคคลเหล่านี้นำเงินมาฝากไว้กับบริษัทจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกัน ร่วมเปิดกิจการสาขาและชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาฝากบริษัทจำเลยที่ 2 ก็เนื่องจากหลงเชื่อในคำหลอกลวงของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ยังถือไม่ได้ว่าบุคคลเหล่านี้มีส่วนร่วมกระทำความผิดและไม่ใช่เป็นผู้เสียหายดังที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา ส่วนข้อที่ว่าผู้ที่นำเงินมาฝากไม่ใช่ผู้เสียหายด้วยนั้น ก็ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า การที่ผู้เสียหายนำเงินมาฝากจำเลยที่ 2 นั้น เนื่องมาจากความเชื่อถือในบริษัทจำเลยที่ 2 จึงหาใช่เป็นมูลกรณีอันจะเป็นความผิดทางอาญาไม่ และบริษัทจำเลยที่ 2 ได้ประกอบธุรกิจด้วจความบริสุทธิ์มิได้หลอกลวงประชาชน จึงไม่มีความผิด พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยที่ 2เป็นเงิน 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 4 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้นั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นกรรมเดียวและลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้นเห็นว่ายังไม่ถูกต้องเพราะความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ข้อ 5(7) และข้อ 16 ย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยทั้งห้าเปิดสาขาประกอบธุรกิจเงินทุนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นคนละกรรมต่างหากจากความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน แม้โจทก์ไม่อนุธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขเฉพาะการปรับบทเรียงกระทงให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์