แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เรียงคำฟ้องและรับว่าความในหน้าที่ของทนายความ ข้อความที่ปรากฏในคำฟ้องเป็นข้อความที่ได้จากคำบอกเล่าของจำเลยที่ 1 (ซึ่งเป็นลูกความ) และจะเป็นความเท็จหรือความจริง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทนายความย่อมไม่มีโอกาสจะทราบได้นอกจากจะปรากฏตามหลักฐานที่นำสืบ หากในเวลาภายหน้าความปรากฏขึ้นว่า คำฟ้องมีข้อความอันเป็นเท็จ ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบก็คือจำเลยที่ 1 หาใช่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแต่ผู้เรียงคำฟ้องตามคำบอกเล่าในหน้าที่ของทนายความไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำเอาความเท็จมาฟ้องว่านายเสงี่ยม ยินดีพิธ กระทำผิดอาญา ว่านายเสงี่ยมเรียกร้องเอาเงินจากจำเลยเพื่อจะได้ไม่สั่งให้พนักงานสอบสวนจับจำเลยที่ ๑ ไปส่งฟ้องและเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาททำให้นายเสงี่ยมเสียหาย จำเลยทั้งสองเป็นจำเลยคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาดำที่ ๓๐๒/๒๕๐๙, ๑๐๔๘/๒๕๐๙ของศาลจังหวัดนครราชสีมาและจำเลยที่ ๒ เป็นจำเลยคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาดำที่ ๕๗๙/๒๕๐๙, ๑๒๗๘/๒๕๐๙ ของศาลแขวงนครราชสีมา และศาลจังหวัดนครราชสีมาตามลำดับ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๖, ๑๗๕, ๑๘๑(๒), ๓๒๖, ๓๒๘, ๘๓ และขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ ๑ ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๕, ๑๘๑(๒), ๓๒๖, ๓๒๘, ๘๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๗๕, ๑๘๑(๒)อันเป็นบทหนัก จำคุก ๑ ปี คดีที่ขอให้นับโทษต่อยังไม่ได้พิพากษาจึงให้ยกคำขอ
โจทก์และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ ๒ คบคิดกับจำเลยที่ ๑ และไม่มีข้อเท็จจริงจะวินิจฉัยว่าความจริงในเรื่องที่ผู้เสียหายถูกฟ้องเป็นอย่างไร เพราะศาลสั่งจำหน่ายคดีเรื่องนั้นก่อนไต่สวนมูลฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานนำสืบว่าจำเลยทั้งสองได้สมคบกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้เรียงคำฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ได้นำสืบว่าจำเลยที่ ๑ มาปรึกษาเล่ารายละเอียดให้ฟัง และจะฟ้องผู้เสียหาย จำเลยที่ ๒ ตกลงรับว่าความให้ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๒ เรียงคำฟ้องและรับว่าความในหน้าที่ของทนายความ ข้อความที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงเป็นข้อความที่ได้จากคำบอกเล่าของจำเลยที่ ๑ และจะเป็นความเท็จหรือความจริง จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นทนายความย่อมไม่มีโอกาสจะทราบได้ นอกจากจะปรากฏตามหลักฐานที่นำสืบหากในเวลาภายหน้าความปรากฏชัดว่า คำฟ้องมีข้อความอันเป็นเท็จผู้ที่จะต้องรับผิดชอบก็คือจำเลยที่ ๑ หาใช่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นแต่ผู้เรียงคำฟ้อง ตามคำบอกเล่าในหน้าที่ของทนายความไม่ ส่วนฟ้องของจำเลยที่ ๑ จะมีข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่นั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยว่าคำฟ้องจำเลยเป็นเท็จ
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์.