คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4254/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ว่าตนเป็นฝ่ายเข้าไปแตะที่ข้อศอกจำเลยที่1ในขณะที่จำเลยที่1ขับรถจักรยานยนต์มาจอดที่ลานจอดรถและจากคำเบิกความของส. พยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่เบิกความรับว่าได้ยินเสียงจำเลยที่1พูดขึ้นว่า”มึงจะกระตุกสร้อยกูหรือ”หลังจากนั้นโจทก์ร่วมก็วิ่งหนีจำเลยที่1วิ่งไล่ตามกรณีจึงเป็นการเจือสมพยานหลักฐานจำเลยทั้งสามที่นำสืบได้ว่าโจทก์ร่วมมีพฤติการณ์ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจแก่จำเลยที่1ว่าโจทก์ร่วมเป็นคนร้ายที่จะประทุษร้ายจำเลยที่1จริงเมื่อจำเลยที่1วิ่งไล่โจทก์ร่วมไม่ทันก็ไปแจ้งเหตุต่อจำเลยที่2และที่3ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบอยู่บริเวณใกล้เคียงเสริมให้เห็นชัดถึงความเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ร่วมเป็นคนร้ายที่จำเลยที่2และที่3พบตัวโจทก์ร่วมภายหลังและทำการค้นตัวตลอดจนรอให้จำเลยที่1มาชี้ตัวโจทก์ร่วมแล้วจึงจับโจทก์ร่วมไว้นั้นจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบปราศจากข้อระแวงสงสัยใดๆส่วนการนำตัวโจทก์ร่วมออกนอกเส้นทางที่จะไปสถานีตำรวจนั้นก็มีเหตุผลที่ต้องการจะติดตามขยายผลเพื่อจับพวกของโจทก์ร่วมที่ต้องสงสัยว่าร่วมกับโจทก์ร่วมกระทำผิดโดยมีการรายงานผู้บังคับบัญชารับทราบตามระเบียบปฏิบัติแล้วเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นการกระทำของจำเลยที่2และที่3จึงเป็นการปฏิบัติที่ชอบแล้ว ส่วนเหตุการณ์ที่โจทก์ร่วมนำสืบว่ามีการพูดว่าจะพาโจทก์ร่วมไปยิงทิ้งนั้นหากจำเลยทั้งสามมีความประสงค์เช่นนั้นจริงก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องพูดให้โจทก์ร่วมรู้ตัวโดยเฉพาะเป็นการพูดต่อหน้าส. พวกของโจทก์ร่วมที่ขออาศัยรถไปด้วยจึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังเชื่อถือประกอบกับพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมตั้งแต่เริ่มก่อเหตุถูกจำเลยที่1วิ่งไล่จับและภายหลังที่ได้รับบาดเจ็บแล้วไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่โรงแรมกลับอิดออดไม่ยอมแจ้งความจนกระทั่งเจ้าหน้าที่โรงแรมต้องเป็นผู้แจ้งเหตุเองล้วนแต่แสดงออกชัดถึงความไม่สุจริตของโจทก์ร่วมเป็นเหตุผลที่ชี้ให้เห็นว่าความจริงโจทก์ร่วมถือโอกาสที่รถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจชะลอความเร็วกระโดดรถเพื่อหนีจากการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานตำรวจมากกว่าหาได้มีการขู่จะยิงทิ้งดังที่อ้างไม่ ที่โจทก์ร่วมเบิกความถึงข้อเท็จจริงในขณะที่วิ่งหนีว่าโจทก์ร่วมกระโดดลงจากรถและล้มลงแล้วลุกขึ้นวิ่งหนีไปได้ถึง4ก้าวได้ยินเสียงปืนดังขึ้น1นัดโจทก์ร่วมหันไปดูแต่ไม่ทราบว่าใครยิงเป็นข้อเท็จจริงที่ขัดต่อวิสัยคนที่กำลังพยายามจะหนีเอาชีวิตรอดเมื่อได้ยินเสียงปืนแทนที่จะรีบเร่งหนียิ่งขึ้นกลับใจเย็นพอที่จะหันไปดูแต่ก็ไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิงอีกเป็นคำเบิกความที่เชื่อไม่ได้โจทก์ร่วมยังเบิกความว่าวิ่งต่อไปอีก10ก้าวได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีก1นัดกระสุนปืนถูกบริเวณเหนือข้อมือซ้ายโจทก์ร่วมล้มลงแล้วก็ลุกขึ้นวิ่งหนีและได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีก1นัดจึงได้กระโดดหน้าผาหลบหนีคำเบิกความของโจทก์ร่วมจำได้ละเอียดละออถึงขนาดจำนวนก้าวของการวิ่งลำดับเหตุการณ์เป็นขั้นเป็นตอนทุกระยะผิดวิสัยคนที่อยู่ในระหว่างตกใจและวิ่งหนีเพื่อเอาชีวิตรอดนั้นจะสามารถจำและสาธยายเหตุการณ์ได้ละเอียดถึงปานนั้นและแม้ส. พวกของโจทก์ร่วมที่นั่งอยู่บนรถในขณะเกิดเหตุจะเบิกความว่าจำเลยที่1เป็นผู้ยิงปืนทั้งสามนัดในขณะนั่งอยู่บนรถแต่จากแผนที่แสดงสถานที่เกิดเหตุพบรอยเลือดจุดแรกอยู่ใกล้ๆกับปลอกกระสุนปืนที่ตกอยู่รวม2ปลอกอยู่ห่างและคนละฟากถนนกับเส้นทางของรถยนต์ที่อ้างว่าจำเลยที่1นั่งและยิงปืนปรากฎว่าอาวุธปืนของกลางเป็นแบบออโตเมติกเมื่อมีการยิงแล้วปลอกกระสุนน่าจะสลัดตกอยู่บริเวณใกล้ๆจุดที่ยิงดังนี้จากวัตถุพยานที่ปรากฎจึงชี้ชัดว่าที่โจทก์ร่วมและส. ยืนยันว่าจำเลยที่1ยิงปืนในขณะที่อยู่บนรถยนต์นั้นไม่ตรงต่อความเป็นจริงตรงกันข้ามเป็นการยิงในระยะใกล้ประชิดตัวมากกว่าเมื่อนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิเคราะห์ประกอบกับคำให้การของโจทก์ร่วมในชั้นสอบสวนที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมอยู่หลายครั้งหลายคราวส่อให้เห็นถึงความไม่ยึดมั่นต่อความจริงมุ่งจะเสริมแต่งข้อเท็จจริงเพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสามมากกว่าพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบนอกจากจะเชื่อถือไม่ได้แล้วยังกลับไปเจือสมข้อต่อสู้ของจำเลยว่าจำเลยที่1ได้วิ่งไล่จับโจทก์ร่วมและมีการกอดปล้ำกันเป็นเหตุให้ปืนลั่นถูกโจทก์ร่วมมากกว่าหาใช่การยิงโดยมีเจตนาฆ่าไม่จำเลยที่1จึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมและจำเลยที่2และที่3ไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 80, 83, 91, 157, 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ และริบอาวุธปืนกับปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายสัญญา ชวดชุมหรือเชิดชุม ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปีรวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 11 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุกคนละ 2 ปี คำเบิกความของจำเลยทั้งสามรวมทั้งจำเลยทั้งสามเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 5 เดือน (ที่ถูก 7 ปี 4 เดือน) จำเลยที่ 2และที่ 3 มีกำหนดคนละ 1 ปี 4 เดือนริบอาวุธปืนและปลอกกระสุนปืนของกลางคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1ในความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น และยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเสียด้วย อาวุธปืนและปลอกกระสุนปืนของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดจึงไม่ริบ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ และ โจทก์ร่วม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วสำหรับปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำผิดฐานร่วมกับพวกพยายามฆ่าผู้อื่นหรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมหรือไม่ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ จากข้อเท็จจริงที่โจทก์ร่วมเบิกความรับเองว่าเป็นฝ่ายเข้าไปแตะที่ข้อศอกจำเลยที่ 1 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มาจอดที่ลานจอดรถ และจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนายสมควรหรือเก่ง เสนาชัยน้อย เบิกความรับว่าได้ยินเสียงจำเลยที่ 1 พูดขึ้นว่า “มึงจะกระตุกสร้อยกูหรือ” แล้วหลังจากนั้นโจทก์ร่วมก็วิ่งหนี จำเลยที่ 1 วิ่งไล่ตาม ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการเจือสมพยานหลักฐานจำเลยทั้งสามที่นำสืบฟังได้ว่าโจทก์ร่วมมีพฤติการณ์ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจแก่จำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ร่วมเป็นคนร้ายที่จะประทุษร้ายจำเลยที่ 1 จริง และหลังจากที่จำเลยที่ 1 วิ่งไล่โจทก์ร่วมไม่ทันก็ได้ไปแจ้งเหตุต่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบอยู่ในบริเวณใกล้เคียงนั้น เสริมให้เห็นชัดถึงความเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ร่วมเป็นคนร้ายที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 พบตัวโจทก์ร่วมภายหลัง และทำการค้นตัวตลอดจนรอให้จำเลยที่ 1 มาชี้ตัวโจทก์ร่วม แล้วจึงดำเนินการจับโจทก์ร่วมไว้นั้น จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบโดยปราศจากข้อระแวงสงสัยใด ๆ ส่วนการนำตัวโจทก์ร่วมออกนอกเส้นทางนั้นก็มีเหตุที่ต้องการจะติดตามขยายผลเพื่อจับพวกของโจทก์ร่วมที่ต้องสงสัยว่าร่วมกับโจทก์ร่วมกระทำผิดโดยมีการรายงานผู้บังคับบัญชารับทราบตามระเบียบปฏิบัติแล้วเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น การกระทำของจำเลยที่ 2และที่ 3 จึงฟังได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่ชอบแล้ว ส่วนเหตุการณ์ต่อมาที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า มีการพูดว่าจะพาโจทก์ร่วมไปยิงทิ้งนั้น หากจำเลยทั้งสามมีความประสงค์เช่นนั้นจริง ก็ไม่มีเหตุผลใด ๆที่จะต้องพูดให้โจทก์ร่วมรู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพูดต่อหน้านายสมควรหรือเก่งพวกของโจทก์ร่วมที่ขออาศัยรถไปด้วยเช่นที่ปรากฎ จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังเชื่อถือประกอบกับพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมที่ปรากฎตั้งแต่เริ่มก่อเหตุถูกจำเลยที่ 1 วิ่งไล่จับและภายหลังที่ได้รับบาดเจ็บแล้วไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่โรงแรมให้ช่วยทำแผลให้ กลับอิดออดไม่ยอมแจ้งความจนกระทั่งเจ้าหน้าที่โรงแรมต้องเป็นผู้แจ้งเหตุเองล้วนแต่แสดงออกชัดถึงความไม่สุจริตของโจทก์ร่วม เป็นเหตุผลที่ชี้ให้เห็นไปในทางว่าความจริงโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายถือโอกาสที่รถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจต้องชะลอความเร็วนั้นกระโดดรถเพื่อหนีจากการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานตำรวจมากกว่าหาได้มีการขู่จะยิงทิ้งดังที่อ้างไม่ส่วนปัญหาที่โจทก์ร่วมถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บนั้นก็ปรากฎว่าเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมิได้มีส่วนร่วมด้วยแต่ประการใด คดีจึงฟังได้ความชัดว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้วทุกประการมิได้กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ร่วมเบิกความถึงข้อเท็จจริงในขณะที่วิ่งหนีว่า โจทก์ร่วมกระโดดลงจากรถและล้มลงแล้วได้ลุกขึ้นวิ่งหนีไปได้ถึง 4 ก้าว ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น1 นัด โจทก์ร่วมยืนยันว่าได้หันไปดูแต่ไม่ทราบว่าใครยิง เป็นข้อเท็จจริงที่ขัดต่อวิสัยคนที่กำลังพยายามจะหนีเอาชีวิตรอด เมื่อได้ยินเสียงปืน แทนที่จะรีบเร่งหนียิ่งขึ้น กลับใจเย็นพอที่จะหันไปดู แต่ก็ไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิงอีกเป็นคำเบิกความที่เชื่อไม่ได้โจทก์ร่วมยังเบิกความว่าวิ่งต่อไปอีก 10 ก้าว ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีก 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณเหนือข้อมือซ้ายโจทก์ร่วมล้มลงแล้วก็ลุกขึ้นวิ่งหนีไปทางขวาของถนนและได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีก 1 นัด จึงได้กระโดดหน้าผาหลบหนี คำเบิกความของโจทก์ร่วมจำได้ละเอียดละออถึงขนาดจำนวนก้าวของการวิ่ง ลำดับเหตุการณ์เป็นขั้นเป็นตอนทุกระยะผิดวิสัยคนที่อยู่ในระหว่างตกใจและวิ่งหนีเพื่อเอาชีวิตรอดนั้นจะสามารถจำและสาธยายเหตุการณ์ได้ละเอียดถึงปานนั้นแต่อย่างไรก็ดี พยานโจทก์อีกปากหนึ่งคือนายสมควรหรือเก่งพวกของโจทก์ร่วมที่นั่งอยู่บนรถในขณะเกิดเหตุดังกล่าวได้เบิกความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยิงปืนทั้งสามนัด ในขณะที่จำเลยที่ 1 นั่งอยู่บนรถ สรุปได้ว่าเป็นการยิงไล่หลังโจทก์ร่วมที่กำลังหนี แต่จากแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.4 รอยเลือดที่พบจุดแรกอยู่ใกล้ ๆ กับปลอกกระสุนปืนที่ตกอยู่รวม 2 ปลอก อยู่ห่างและคนละฟากถนนกับเส้นทางของรถยนต์ที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 นั่งและยิงปืนนั้น อาวุธปืนของกลางเป็นแบบออโตเมติก เมื่อมีการยิงแล้วปลอกกระสุนปืนน่าจะสลัดตกอยู่บริเวณใกล้ ๆ จุดที่ยิง ดังนี้จากวัตถุพยานที่ปรากฎจึงชี้ชัดว่าที่โจทก์ร่วมและนายสมควรหรือเก่งยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ยิงปืนในขณะที่อยู่บนรถยนต์นั้นไม่ตรงต่อความเป็นจริงตรงกันข้ามเป็นการยิงในระยะใกล้ประชิดตัวมากกว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับคำให้การของโจทก์ร่วมในชั้นสอบสวนที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมอยู่หลายครั้งหลายคราวส่อให้เห็นถึงความไม่ยึดมั่นต่อความจริง มุ่งจะเสริมแต่งข้อเท็จจริงเพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสามมากกว่า พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบ นอกจากจะเชื่อถือไม่ได้แล้วยังกลับไปเจือสมข้อต่อสู้ของจำเลยว่า จำเลยที่ 1 ได้วิ่งไล่จับโจทก์ร่วมและมีการกอดปล้ำกันเป็นเหตุให้ปืนลั่นถูกโจทก์ร่วมมากกว่า หาใช่การยิงโดยมีเจตนาฆ่าไม่ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 นั้นถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 และ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้นฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share