แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่สามีหรือภริยาจัดการสินสมรสไปโดยมิได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง มี ป.พ.พ. มาตรา 1480 บัญญัติหลักเกณฑ์ในการที่ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายจะเพิกถอนนิติกรรมนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า ไม่สามารถเพิกถอนได้หากได้ความว่าบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ทั่วไปว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้แก่กรณีนี้ได้
เมื่อโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารมหาชนที่เปิดเผยแก่บุคคลโดยทั่วไประบุว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยทางมรดก ย่อมทำให้เข้าใจว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 มีผลให้เชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 2 สามารถทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ ส่วนข้อผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกไม่อาจรับรู้ได้ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทำนิติกรรมโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่อาจเพิกถอนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 176160 ตำบลคลองตันเหนือ (ที่ 11 ฝั่งพระโขนงเหนือ) อำเภอวัฒนา (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 14/2 ซอยสุขุมวิท 61 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษา ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนที่ไม่มีผู้ใดโต้แย้งฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นสามีภริยากัน จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2528 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสมพร ซึ่งเป็นมารดาได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 176160 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทบนที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว โดยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมรดกที่ได้รับจากมารดา แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งร่วมกันซื้อมาจากทายาทอื่นของมารดาจำเลยที่ 2 หลังจากนั้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2550 ได้มีการทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวทั้งแปลงระหว่างจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขายฝากกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ซื้อฝาก โดยมีนางสาวเกียว เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมขายฝากที่ดินในส่วนที่เป็นสินสมรส
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาโจทก์มีเพียงว่า จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมซื้อฝากที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้มีปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสินสมรสอันเป็นเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 ได้บัญญัติวางหลักเกณฑ์ในกรณีที่สามีหรือภริยาจัดการสินสมรสไปโดยมิได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายจะเพิกถอนได้หรือไม่ อย่างไร ไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า หากได้ความว่าบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้ว ก็ไม่สามารถเพิกถอนได้ จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ทั่วไปว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้แก่คดีนี้ได้
สำหรับปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ทำนิติกรรมกับจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ เห็นว่า จากทางนำสืบของโจทก์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 หลงเชื่อคำชักชวนและเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้นายชิดชนกนำโฉนดที่ดินพิพาทไปค้ำประกันเงินกู้ มีการนำโฉนดที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนทำนิติกรรมที่สำนักงานที่ดินโดยเปิดเผยและถูกต้องตามกฎหมาย ที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างว่าได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหลายฉบับโดยไม่อ่านข้อความและไม่ทราบว่าเป็นการทำนิติกรรมขายฝากนั้น เมื่อคำนึงว่าจำเลยที่ 2 จบการศึกษาชั้นปริญญาตรี ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของมารดา ไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะหละหลวมและหลงเชื่อคำหลอกลวงของผู้อื่นได้ง่ายขนาดนั้น ทั้งจำเลยที่ 2 เบิกความอ้างสาเหตุที่หลวมตัวลงชื่อทำนิติกรรมขายฝากก็ขัดแย้งกันเอง เช่น อ้างว่านายชิดชนกขอโฉนดที่ดินพิพาทไปค้ำประกันโดยไม่จดทะเบียน แต่เมื่อนายชิดชนกชักชวนไปที่สำนักงานที่ดิน จำเลยที่ 2 ก็ไปและยังยินยอมลงชื่อในเอกสารหลายฉบับ วิญญูชนย่อมรู้ดีว่าเป็นการทำนิติกรรมและต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ทั้งจำเลยที่ 2 ยังยอมรับเงินค่าตอบแทนและเช็คอีก 12 ฉบับ จากนายชิดชนกอีกด้วย จึงน่าเชื่อว่าเป็นการทำนิติกรรมโดยสมัครใจของจำเลยที่ 2 เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง แต่ปิดบังมิให้โจทก์รู้ จนกระทั่งโจทก์ทราบความจริงเอง แต่อย่างไรก็ตาม โจทก์และจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันสมคบกับนายชิดชนกหรือจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ทราบว่าที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างส่วนหนึ่งเป็นสินสมรสของโจทก์ เมื่อในโฉนดที่ดินพิพาทระบุว่า จำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาทางมรดก อันเป็นเอกสารมหาชนที่เปิดเผยแก่บุคคลโดยทั่วไปให้เข้าใจว่าที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ข้อผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกไม่อาจรับรู้ได้ เมื่อหลักฐานทางเอกสารปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ย่อมเข้าใจได้โดยสุจริตว่าจำเลยที่ 2 สามารถทำนิติกรรมได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ ส่วนนางสาวเกียวผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าร่วมสมคบหรือรู้ว่าที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีเหตุผลและน้ำหนัก ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายฝากกับจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่อาจขอเพิกถอนได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ