คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4245/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในชั้นการตรวจคำขอรับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสอบสวนเรื่องหนี้สินแล้วทำความเห็นส่งสำนวนต่อศาล การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนการนำพยานมาให้สอบสวนและมีคำสั่งยกคำร้องที่ขออนุญาตนำพยานหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนใหม่ เป็นการกระทำในขั้นตอนของการสอบสวนตรวจคำขอรับชำระหนี้เท่านั้น และยังไม่เป็นการแน่นอนว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะทำความเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้นั้นหรือไม่ต่อมาหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นควรอนุญาตหรือให้ยกคำขอรับชำระหนี้ด้วยเหตุใดก็ตาม ลำพังความเห็นดังกล่าวก็หามีผลบังคับแต่อย่างใดไม่ ศาลอาจวินิจฉัยยกหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวข้างต้นจึงยังไม่เป็นการกระทำหรือเป็นคำวินิจฉัยที่ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2531 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดสอบสวนพยานหลักฐานประกอบคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง เนื่องจากพยานติดธุระ ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขอเลื่อนวันนัดสอบสวนออกไปเป็นวันที่13 พฤษภาคม 2531 แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องต่อมาวันที่ 25 เมษายน 2531 ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องขออนุญาตนำพยานหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องอีก ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานประกอบคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องต่อไป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า กรณีเป็นเรื่องชั้นการตรวจคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสอบสวนในคดีเรื่องหนี้สิน แล้วทำความเห็นส่งสำนวน เรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้ต่อศาล ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 105บัญญัติไว้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนการนำพยานมาให้สอบสวน และมีคำสั่งยกคำร้องที่ขออนุญาตนำพยานหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนใหม่ ย่อมเป็นการกระทำในขั้นตอนของการสอบสวนตรวจคำขอรับชำระหนี้เท่านั้นและยังไม่เป็นการแน่นอนว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะทำความเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง ซึ่งแม้ต่อมาหากปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นควรอนุญาตหรือให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องเสียด้วยเหตุใดก็ตาม ลำพังความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวก็หามีผลบังคับแต่อย่างใดไม่เนื่องจากศาลอาจวินิจฉัยยกหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวข้างต้นจึงยังไม่เป็นการกระทำหรือคำวินิจฉัยที่ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ผู้ร้องจึงยังไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องให้ศาลสั่งกลับคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในชั้นนี้ ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share