คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4244/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยที่ 1ฎีกายกเหตุอ้างว่าไม่จงใจขาดนัดพิจารณาอันเป็นข้อเท็จจริงแม้ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นปัญหาในชั้นดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นไม่ใช่ปัญหาในประเด็นที่พิพาทคำฟ้องและคำให้การแต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริง ต้องกันว่า จำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดพิจารณา ก็ต้องถือทุนทรัพย์ ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเป็นเงิน 178,125 บาท ตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้น เมื่อไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกัน ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ อ้างเหตุว่าไม่เคยทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ระบุมาในคำฟ้องไม่ใช่ภูมิลำเนาที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มีทางชนะคดีโจทก์ เนื่องจากไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆกับโจทก์ และลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้ตามฟ้องเป็นลายมือปลอม
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 28,125 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกายกเหตุอ้างว่าไม่จงใจขาดนัดพิจารณาอันเป็นข้อเท็จจริง แม้ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นปัญหาในชั้นดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นไม่ใช่ปัญหาในประเด็นที่พิพาทตามคำฟ้องและคำให้การ แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดพิจารณาก็ต้องถือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา เป็นเงิน 178,125 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 มาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1

Share