แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อความตามบันทึกข้อตกลงเป็นการ แสดงเจตนามอบหมายให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกถือกรรมสิทธิ์ ที่ดินแทนทายาททุกคน หาได้เป็นการยกทรัพย์มรดกที่ดิน ให้จำเลยนั้น ฎีกาโจทก์เป็นการแปลความหมายข้อความใน บันทึกข้อตกลงอันเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่เมื่อเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เพราะในชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบปฏิเสธว่าโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อยกทรัพย์มรดกที่ดินตามบันทึกข้อตกลงให้จำเลย ทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย บันทึกข้อตกลงที่โจทก์และทายาทอื่นตกลงยกทรัพย์มรดกที่ดินทุกโฉนดของ อ. ให้แก่จำเลย แม้มิใช่เป็นการสละมรดกเพราะยังมีทรัพย์มรดกส่วนอื่นอีกที่มิได้มีการสละด้วยก็ตาม แต่เมื่อเป็นกรณีที่ทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันโดย สัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง ประกอบมาตรา 850 จึงมีผล บังคับได้ ตามมาตรา 852
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยกับนายอาทร ญาณสิทธิ์ นายอาทรถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2533 มีทายาท 5 คน คือ จำเลย โจทก์ และพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์อีก 3 คน จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายอาทรตามคำสั่งศาล จำเลยและทายาทอื่นมีพฤติการณ์ไม่สุจริตเบียดบังซ่อนเร้นทรัพย์มรดกและกีดกันมิให้โจทก์ได้รับการแบ่งมรดกจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยนำทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 31302 ถึง 31307 และ 8188 อาวุธปืนรีวอลเวอร์ ขนาด .22 หมายเลขประจำปืน 32432จำนวน 1 กระบอก ออกขายทอดตลาดและนำเงินมาแบ่งปันให้แก่ทายาท5 คน คนละ 1 ส่วน ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับ 1 ส่วน กับให้นำทรัพย์มรดกที่เป็นสินสมรสคือที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 13139, 15012พร้อมตึกแถวบนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 3670 พร้อมตึกแถวบนที่ดิน12 คูหา ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 19898, 9667 รถยนต์บรรทุกยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน ม-2418 สมุทรสาคร สิทธิการเช่าโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรสาครหมายเลข 412292, 421933 จำนวน 2 เครื่อง และทรัพย์สินเครื่องใช้สำหรับการเลี้ยงกุ้งได้แก่เครื่องมือเครื่องจักร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าออกขายทอดตลาดและนำเงินมาแบ่งปันให้แก่ทายาท 5 คน คนละ 1 ส่วนโดยโจทก์มีสิทธิได้รับ 1 ส่วน จากกึ่งหนึ่งของสินสมรสกับให้จำเลยนำเงินจำนวนกึ่งหนึ่งที่ได้จากการขายที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าวและผลผลิตจากการเลี้ยงกุ้งของเจ้ามรดกไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกเสียก่อนแล้วนำเงินสุทธิที่เหลือ2,500,000 บาท มาแบ่งปันแก่ทายาท 5 คน คนละ 1 ส่วน ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับ 1 ส่วน จำนวน 500,000 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นมารดาโจทก์และเป็นผู้จัดการมรดกนายอาทร จำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์อันโจทก์จะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อฟ้องบังคับให้จำเลยต้องจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้ตามอำเภอใจ ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 25186 และ 25187 กับที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 6429, 32089 เป็นสินสมรสระหว่างนายอาทรกับจำเลยซึ่งโจทก์รับว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยขายทีดินโฉนดที่ดินเลขที่ 25186 และ 25187 และโจทก์ทราบว่าจำเลยขายที่ดินอีก2 แปลง เพียงแต่อ้างว่าที่ดิน 2 แปลงหลังและผลิตผลจากการเลี้ยงกุ้งจำเลยขายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ แต่โจทก์ก็ต้องการให้นำเงินไปชำระหนี้กองมรดกเสียก่อนแล้วให้นำมาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ทรัพย์มรดกดังกล่าวเป็นสินสมรสของจำเลยกึ่งหนึ่งจำเลยมีสิทธิใช้ทรัพย์สินส่วนที่เป็นของจำเลย จำเลยนำเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินของนายอาทรหลายแปลง โจทก์มีสิทธิตรวจสอบการจัดการมรดกของจำเลย จำเลยไม่ได้ทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกอันเป็นการโต้แย้งสิทธิจนโจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ทรัพย์สินที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ถึง 10 มิใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของนายอาทร แต่เป็นสินสมรสการคิดส่วนแบ่งระหว่างทายาทตามคำฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้องเพราะต้องแบ่งสินสมรสส่วนของจำเลยออกเสียก่อน นอกจากนี้ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 25186 ได้ยกให้เป็นสาธารณประโยชน์ส่วนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 32089 นายอาทรซื้อมาและได้วางเงินมัดจำไว้เพียงบางส่วน จำเลยต้องนำเงินไปชำระผู้ขายภายหลังเมื่อเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ซึ่งทายาททุกคนต้องร่วมรับผิดใช้หนี้ค่าที่ดินร่วมกัน รถยนต์บรรทุกยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน ม-2418สมุทรสาคร เป็นของจำเลยผลผลิตจากการเลี้ยงกุ้งไม่มีเพราะขาดทุนและกองมรดกยังเป็นหนี้ค่าใช้จ่ายเลี้ยงกุ้งแก่บุคคลภายนอกอีกประมาณ 2,000,000 บาท ส่วนทรัพย์สินเครื่องใช้และอุปกรณ์การเลี้ยงกุ้งเสื่อมสภาพหากนำมาขายก็ได้เงินไม่เกิน 50,000 บาทที่ดินที่จำเลยขายไปได้ราคาเพียง 3,000,000 บาท จำเลยนำไปชำระหนี้กองมรดกจนหมดไม่มีเหลือแบ่งให้แก่โจทก์ ทรัพย์สินต่าง ๆเมื่อหักสินสมรสส่วนของจำเลยแล้วจะเหลือเป็นทรัพย์มรดกเพียงไม่เกิน 2,000,000 บาท เนื่องจากกองมรดกยังเป็นหนี้บุคคลภายนอกประมาณ 16,000,000 บาท โจทก์ประเมินราคาทรัพย์สินสูงเกินความจริง จำเลยยังไม่ต้องแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์เนื่องจากต้องจัดการชำระหนี้ของกองมรดกให้เสร็จเสียก่อน จำเลยได้เรียกประชุมทายาทของนายอาทรแล้วทายาททุกคนรวมทั้งโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ที่ดินทุกแปลงและสิ่งปลูกสร้างเป็นของจำเลย จำเลยไม่ต้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยนำทรัพย์มรดกที่เป็นสินส่วนตัวคืออาวุธปืนรีวอลเวอร์ ขนาด .22 หมายเลขประจำปืน 32432ที่เป็นสินสมรส คือ รถยนต์บรรทุกยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียนม-2418 สมุทรสาคร สิทธิการเช่าโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรสาครหมายเลข 412292, 421933และเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งเป็นเครื่องมือใช้สำหรับเลี้ยงกุ้งแบ่งให้แก่ทายาทคนละ 1 ส่วน โดยโจทก์มีสิทธิได้รับ 1 ส่วน จากจำนวนกึ่งหนึ่งของสินสมรส หากไม่อาจตกลงกันได้ให้นำทรัพย์มรดกดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกัน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่านายอาทร ญาณสิทธิ์ และจำเลยเป็นสามีภรรยาจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย มีบุตรร่วมกัน 4 คน คือ โจทก์ นางหรรษา เลาหบุตรนายปริญญา ญาณสิทธิ์ และนายวีระ ญารณสิทธิ์ นายอาทรถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2533 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนายอาทรตามคำสั่งศาลจังหวัดสมุทรสาครคดีหมายเลขแดงที่ 166/2533 ทรัพย์มรดกนายอาทรที่เป็นสินส่วนตัวคืออาวุธปืนรีวอลเวอร์ ขนาด .22 หมายเลขประจำปืน 32432ที่เป็นสินสมรสคือรถยนต์บรรทุกยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ม-2418สมุทรสาคร สิทธิการเช่าโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจังหวัดสมุทรสาคร หมายเลข 412292 และ 421933 กับเครื่องมือเครื่องจักร เครื่องกำเนิดไฟฟ้า อันเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับเลี้ยงกุ้ง และศาลศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ จำเลย และทายาทแบ่งปันกันตามส่วน ซึ่งโจทก์ จำเลยมิได้อุทธรณ์ การแบ่งทรัพย์มรดกในส่วนดังกล่าวจึงเป็นอันยุติแล้วในศาลชั้นต้น คงมีทรัพย์มรดกที่พิพาทในชั้นฎีกาคือที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.25 ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ลงลายมือชื่อยกทรัพย์มรดกที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.25 ให้จำเลยตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.26ที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อความตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.26เป็นการแสดงเจตนามอบหมายให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนทายาททุกคน หาได้เป็นการยกทรัพย์มรดกที่ดินให้จำเลยนั้น เห็นว่า ฎีกาโจทก์ดังกล่าวเป็นการแปลความหมายข้อความในบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.26 อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่เป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เพราะโจทก์ปฏิเสธว่าโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อยกทรัพย์มรดกที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.25ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.26 ให้จำเลย ทั้งปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่าบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.26ถือไม่ได้ว่าโจทก์สละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1612 และ 1613 เพราะการสละมรดกจะสละแต่เพียงบางส่วนไม่ได้และมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ และหากเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเท่ากับยกทรัพย์มรดกที่ดินให้จำเลย การให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับคับนั้น เห็นว่า บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.26 ที่โจทก์และทายาทอื่นตกลงยกทรัพย์มรดกที่ดินทุกโฉนดของนายอาทร ให้แก่จำเลย แม้มิใช่เป็นการสละมรดกเพราะยังมีทรัพย์มรดกส่วนอื่นอีกที่มิได้มีการสละด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันโดยสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง ประกอบมาตรา 850 ซึ่งมีผลบังคับได้ ตามมาตรา 852 และหาต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังที่โจทก์ฎีกาไม่
พิพากษายืน