แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นการยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(2) ซึ่งต้องปรากฏว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีจึงจะมีสิทธิเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน ให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันอันเป็นการให้รับผิดตามบุคคลสิทธิปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2ให้การเกี่ยวกับผู้ร้องแต่เพียงว่า แต่เดิมจำเลยที่ 1 ติดต่อขอกู้เงินผู้ร้อง แต่ผู้ร้องไม่ให้กู้จำเลยที่ 1 จึงหลอกลวงผู้ร้องว่าจะกู้เงินโจทก์ ขอให้ผู้ร้องติดต่อจำเลยที่ 2 ให้ออกหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์ โดยนำเงินฝากประจำของผู้ร้องเป็นหลักประกันแทน ไม่มีข้อความใดในคำฟ้องหรือคำให้การของจำเลยที่ 2ที่พาดพิงว่าผู้ร้องจะต้องรับผิดร่วมกับบุคคลใดต่อบุคคลใด หรือแทนบุคคลใดทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2ร่วมกับหรือแทนจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ คำพิพากษาก็หามีผลผูกพันไปถึงผู้ร้องหรือว่าผู้ร้องจะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2โดยถูกยึดเงินฝากประจำที่นำมาเป็นหลักประกันแต่อย่างใดไม่จำเลยที่ 2 จะมีสิทธิยึดเงินฝากประจำของผู้ร้องหรือไม่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 จะต้องว่ากล่าวเอาแก่ผู้ร้องต่อไปเป็นอีกคดีหนึ่งซึ่งผลแห่งคำพิพากษาหรือข้อเท็จจริงที่ศาลฟังในคดีนี้ย่อมจะไม่ผูกพันผู้ร้อง ฉะนั้น ผู้ร้องย่อมจะมีสิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ในคดีนั้น ไม่มีเหตุผลหรือความเป็นธรรมอย่างไรที่ผู้ร้องจะต้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ ผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนี้ จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเพราะสัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆะ โจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาให้ผูกพันกันตามสัญญาและไม่มีการรับเงินกู้ เพราะแต่เดิมจำเลยที่ 1ติดต่อขอกู้เงินผู้ร้อง แต่ผู้ร้องไม่ให้กู้ จำเลยที่ 1 จึงหลอกลวงผู้ร้องว่าจะขอกู้เงินโจทก์ ขอให้ผู้ร้องติดต่อจำเลยที่ 2ให้ออกหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์โดยนำเงินฝากประจำของผู้ร้องเป็นหลักประกันแทน จำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงสมรู้กันทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นโดยไม่มีหนี้ต่อกันจริง โจทก์ไม่ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2รับผิดตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิดหากต้องรับผิดก็เพียงเท่าที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามวงเงินที่ระบุในสัญญาค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องแต่ผู้เดียวเป็นผู้ขอให้จำเลยที่ 2 ออกหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์โดยใช้เงินฝากประจำของผู้ร้องเป็นหลักประกัน หากจำเลยที่ 2 ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ ผู้ร้องก็ต้องชำระหนี้คืนแก่จำเลยที่ 2 ผู้ร้องมีส่วนได้เสียกับจำเลยที่ 2จึงขอเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 เพื่อต่อสู้คดี ผู้ร้องมิได้ร้องขอต่อจำเลยที่ 2 ให้ค้ำประกันสัญญากู้ยืมเงิน ในวันที่จำเลยที่ 2 ออกหนังสือค้ำประกันนั้นยังไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน ผู้ร้องจึงแจ้งให้จำเลยที่ 2 ระงับการจ่ายเงินและบอกกล่าวไปยังโจทก์ด้วยโจทก์รู้ข้อบกพร่องจึงทำสัญญากู้ยืมเงินปลอมขึ้น จำเลยที่ 1ไม่ได้รับเงินกู้หรือลงลายมือชื่อในฐานะผู้กู้ แต่เป็นลายมือชื่อปลอม พยานในสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้ลงลายมือชื่อในวันทำสัญญาโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 และผู้ร้องชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 นั้นเป็นการยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) ซึ่งต้องปรากฏว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีจึงจะมีสิทธิเข้าเป็นจำเลยร่วมได้คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน ให้จำเลยที่ 2รับผิดตามสัญญาค้ำประกันอันเป็นการให้รับผิดตามบุคคลสิทธิปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาส่วนจำเลยที่ 2 ให้การเกี่ยวกับผู้ร้องแต่เพียงว่า แต่เดิมจำเลยที่ 1 ติดต่อขอกู้เงินผู้ร้อง แต่ผู้ร้องไม่ให้กู้จำเลยที่ 1จึงหลอกลวงผู้ร้องว่าจะกู้เงินโจทก์ ขอให้ผู้ร้องติดต่อจำเลยที่ 2ให้ออกหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์ โดยนำเงินฝากประจำของผู้ร้องเป็นหลักประกันแทน ไม่มีข้อความใดในคำฟ้องหรือคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่พาดพิงว่าผู้ร้องจะต้องรับผิดร่วมกับบุคคลใดต่อบุคคลใดหรือแทนบุคคลใดทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2ร่วมกับหรือแทนจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ คำพิพากษาก็หามีผลผูกพันไปถึงผู้ร้อง หรือว่าผู้ร้องจะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2โดยถูกยึดเงินฝากประจำที่นำมาเป็นหลักประกันแต่อย่างใดไม่จำเลยที่ 2 จะมีสิทธิยึดเงินฝากประจำของผู้ร้องหรือไม่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 จะต้องว่ากล่าวเอาแก่ผู้ร้องต่อไปเป็นอีกคดีหนึ่งซึ่งผลแห่งคำพิพากษาหรือข้อเท็จจริงที่ศาลฟังในคดีนี้ย่อมจะไม่ผูกพันผู้ร้อง ฉะนั้นผู้ร้องย่อมจะมีสิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ในคดีนั้น ไม่มีเหตุผลหรือความเป็นธรรมอย่างไรที่ผู้ร้องจะต้องเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้อย่างที่ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนี้ จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(2)
พิพากษายืน