แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มารดาโจทก์จำเลยซื้อที่ดินและตึกพิพาทให้โจทก์ แต่ก่อนจดทะเบียนซื้อขายลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญากันไว้ว่าโจทก์ยอมให้จำเลยกับสามีได้อยู่อาศัยร่วมกับโจทก์ในที่ดินตลอดไปจนกว่าจำเลยไม่ต้องการจะอยู่อาศัย ทั้งนี้เพราะเป็นความประสงค์ของมารดาโจทก์จำเลย และเพราะจำเลยยินยอมให้โจทก์ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกพิพาทคนเดียว สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนธรรมดาที่มีผลผูกพันกัน และแม้ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ก็บังคับกันได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ให้จำเลยและบริวารอาศัยอยู่ในที่ดินและตึกอันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่คิดค่าเช่า ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยและบริวารอาศัยอยู่อีกต่อไปได้มอบให้ทนายความแจ้งให้จำเลยและบริวารขนย้ายสิ่งของออกไป จำเลยไม่ยอมออก ทำให้โจทก์เสียหาย ขาดประโยชน์จากการให้เช่าตึกไป 8 เดือนเป็นเงิน 4,800 บาท ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและตึกพิพาท และบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่าเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์ และมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและตึกพิพาทครึ่งหนึ่ง จำเลยมีเงินไม่พอซื้อที่ดินและตึกพิพาท จึงขอให้มารดาช่วยออกครึ่งหนึ่ง แต่ที่ใส่ชื่อโจทก์เพราะเกรงว่าพี่น้องจำเลยจะไม่พอใจ แต่ให้จำเลยเป็นผู้เก็บรักษาโฉนด โจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาระบุว่าจำเลยและครอบครัวมีสิทธิอยู่ในที่ดินและตึกพิพาทตลอดไปจนกว่าจะไม่ต้องการอยู่ จึงจะคืนโฉนดให้โจทก์ ขณะซื้อตึกอยู่ในสภาพชำรุด จำเลยเป็นผู้ออกเงินซ่อมแซมแต่ผู้เดียว โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ตึกพิพาทให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 250 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า มารดาโจทก์จำเลยซื้อที่ดินและตึกพิพาทให้โจทก์จำเลยมิได้ออกเงินซื้อร่วมด้วย โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยอาศัยโดยไม่มีค่าตอบแทน ไม่ได้จดทะเบียน เมื่อไม่ประสงค์ให้อยู่ต่อไป จำเลยไม่มีสิทธิอ้างสัญญาดังกล่าวยันโจทก์ พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นว่า มารดาโจทก์จำเลยซื้อที่ดินและตึกพิพาทให้โจทก์ แต่โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยอาศัยอยู่ได้ตลอดชีวิต แม้ไม่จดทะเบียน ใช้บังคับได้ระหว่างคู่สัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหาย พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า มารดาโจทก์จำเลยซื้อที่ดินและตึกพิพาทให้โจทก์ก่อนไปจดทะเบียนซื้อขายลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้น โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญากันมีข้อความว่า “หนังสือสัญญาฉบับนี้แสดงว่า ข้าพเจ้านายสมนึก กันตังกุล (โจทก์) ฝ่ายหนึ่ง กับนางลั่นทม เงาอำพันไพฑูรย์(จำเลย) ผู้เป็นพี่สาวอีกฝ่ายหนึ่ง ได้ร่วมกันทำหนังสือขึ้นเป็นข้อผูกพันกับโฉนดที่ดินเลขที่ 15217 เลขที่ดิน 1429 ตำบลทุ่งมหาเมฆ อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร ซึ่งนางฉิวเฮี่ยน กันตังกุล ผู้เป็นมารดาซื้อให้แก่นายสมนึก กันตังกุล เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวแต่นางฉิวเฮี่ยนมีความประสงค์จะให้นางลั่นทมกับสามีได้อยู่อาศัยร่วมกับข้าฯ ในที่ดินดังกล่าวนี้ตลอดไปจนกว่าจะนางลั่นทมไม่ต้องการจะอยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าว จึงมอบโฉนดที่ดินฉบับนี้ให้นางลั่นทมยึดถือไว้ หากนางลั่นทมไม่ต้องการจะอยู่อาศัยและออกจากที่ดินนี้ไปแล้ว จะต้องส่งมอบโฉนดที่ดินคืนให้แก่นายสมนึก กันตังกุล ทันที ฯลฯ” ปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นการให้อาศัยเฉพาะที่ดินไม่รวมตึกพิพาท และมีผลผูกพันบังคับกันได้หรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์จำเลยเป็นพี่น้องกัน กรณีเป็นเรื่องที่มารดาของโจทก์จำเลยออกเงินให้ซื้อที่ดินและตึกพิพาท แต่ก่อนจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและตึกดังกล่าว โจทก์จำเลยทำสัญญาตกลงกันให้จำเลยกับสามีอยู่อาศัยร่วมกันกับโจทก์ และให้จำเลยเป็นผู้ยึดถือโฉนดไว้จนกว่าจำเลยไม่ต้องการจะอยู่อาศัยร่วมกับโจทก์ จำเลยจึงจะมอบโฉนดคืนให้โจทก์ เช่นนี้ เห็นได้ว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเกิดขึ้นนอกจากจะเป็นการประสงค์ของมารดาโจทก์แล้ว ยังเป็นเพราะจำเลยยินยอมให้ลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกพิพาทคนเดียวด้วย ดังนั้น สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนตามธรรมดาที่มีผลผูกพันกันและแม้ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ก็บังคับได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
พิพากษายืน