แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสที่โจทก์ขอแบ่ง ได้แก่ ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงว่าโจทก์จำเลยร่วมกันซื้อที่ดินดังกล่าว โดยให้จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มาศาลด้วยตนเองและยังมีทนายความโจทก์มาศาลและร่วมลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมด้วย โจทก์มีโอกาสที่จะคัดค้านข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความได้ในขณะที่ทำสัญญาหากไม่เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ไม่คัดค้าน ย่อมแสดงว่าโจทก์พอใจในผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จึงได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย เมื่อศาลพิพากษาตามยอมแล้วคำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ในภายหลังโจทก์จะมาอ้างว่าทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ถูกเอาเปรียบและเสียหายจากการฉ้อฉลของจำเลยในวันทำสัญญาทั้ง ๆ ที่ในสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่ได้มีเหตุทุจริตผิดกฎหมาย หรือไม่เป็นไปตามข้อตกลงกันอันจะเป็นเหตุที่จะขอเพิกถอนได้ ตามมาตรา 138 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ ณ สำนักทะเบียนอำเภอ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนากับให้จำเลยแบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรส คิดเป็นเงิน 600,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่จะแบ่งทรัพย์สินกล่าวคือ
1. รถยนต์เก๋งยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน 2ฮ 3887 ตรัง ซึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครอง ให้โจทก์ติดต่อช่างประจำอู่ที่ซ่อมรถคันดังกล่าว เพื่อประเมินราคา เมื่อได้ราคาแล้ว โจทก์จะชำระเงินครึ่งหนึ่งของราคาประเมินให้แก่จำเลย เพื่อโจทก์จะได้สิทธิในการเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว
2. รถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน บน 7698 ตรัง ซึ่งจำเลยเป็นผู้ครอบครองอยู่ระหว่างทำสัญญาเช่าซื้อ ให้จำเลยไปติดต่อกับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อเพื่อประเมินราคารถตามท้องตลาด เมื่อได้ราคาประเมินจำเลยจะชำระเงินครึ่งหนึ่งของราคาให้แก่โจทก์ เพื่อจำเลยจะได้สิทธิเป็นเจ้าของรถยนต์แต่เพียงผู้เดียว
3. โจทก์จำเลยจะไปจดทะเบียนหย่า ณ ที่ว่าการอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 10.00 นาฬิกา หากฝ่ายใดไม่ไปให้ใช้สัญญาประนีประนอมยอมความนี้แทนการแสดงเจตนาของอีกฝ่ายหนึ่ง
4. สินค้าเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ที่จำเลยครอบครองอยู่ในร้านที่อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้โจทก์เป็นผู้ไปรับพร้อมจานดาวเทียมสีส้มและดำ โดยโจทก์มีหน้าที่ขนย้ายสิ่งของต่าง ๆ ด้วยตนเอง
5. โจทก์ จำเลยพอใจตามสัญญาข้อ 1 ถึงข้อ 4 ไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดต่อกันอีก หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความให้อีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้
รายละเอียดปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 27 มกราคม 2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ คืนค่าฤชาธรรมเนียมศาล (ที่ถูก ค่าขึ้นศาล) ชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 อันเป็นวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ดินสองแปลงคือที่ดินโฉนดเลขที่ 55450 และ 55451 ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณท่าอากาศยานตรัง ไม่ได้นำมาตกลงแบ่งกันในสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยอ้างกับโจทก์ว่า ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของนางหวลมารดาของจำเลยยกให้จึงไม่เป็นสินสมรสที่จะนำมาแบ่งกันได้ ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 โจทก์ไปขอตรวจสอบรายการจดทะเบียนที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดตรัง จึงทราบความจริงว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 55450 จดทะเบียนเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2547 ปรากฏชื่อนางหวล มารดาจำเลยยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยจริง ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 55451 จดทะเบียนวันเดียวกับที่ดินแปลงแรก แต่กลับมีชื่อของนางหีด ขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลย แตกต่างจากที่จำเลยเคยแจ้งโจทก์ ดังนั้น ที่ดินแปลงหลังนี้จึงต้องเป็นสินสมรสที่จะต้องนำมาแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง จำเลยฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ในการทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 27 มกราคม 2559 กรณีมีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมฉบับลงวันที่ 27 มกราคม 2559 หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินทั้งสองแปลงจะเป็นสินสมรสดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาหรือไม่นั้น โจทก์ทราบดีมาตั้งแต่ตอนยื่นฟ้องจำเลยแล้ว โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสลำดับแรกที่โจทก์ขอแบ่ง ได้แก่ที่ดินที่พิพาททั้งสองแปลงโดยอ้างว่าโจทก์จำเลยร่วมกันซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ใกล้ท่าอากาศยานตรังเนื้อที่ 3 งานเศษ ให้จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ฝ่ายโจทก์ นอกจากตัวโจทก์จะมาศาลด้วยตนเองด้วย ยังมีทนายโจทก์มาศาลและร่วมลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมด้วย โจทก์มีโอกาสที่จะคัดค้านข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความได้ในขณะที่ทำสัญญาหากไม่เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ไม่คัดค้าน ย่อมแสดงว่าโจทก์พอใจในผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จึงได้ตกลงยินยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย เมื่อศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ในภายหลังโจทก์จะมาอ้างว่าทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ถูกเอาเปรียบและเสียหายจากการฉ้อฉลของจำเลยในวันทำสัญญา ทั้ง ๆ ที่ในสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่ได้มีเหตุทุจริตผิดกฎหมาย หรือไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันอันจะเป็นเหตุที่จะขอเพิกถอนได้ตามมาตรา 138 วรรคสองหาได้ไม่ ข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์โดยอ้างว่า ภายหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว โจทก์ไปขอตรวจสอบรายการจดทะเบียนที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดตรัง จึงพบความจริงว่าที่ดินแปลงหนึ่งไม่ได้เป็นไปดังที่จำเลยอ้างกับโจทก์ว่ามารดาจำเลยยกให้ เพราะมีชื่อนางหีดขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยก็ขัดกับที่โจทก์ระบุมาในฟ้องอ้างว่า โจทก์จำเลยร่วมกันซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมา สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่เรื่องกลฉ้อฉลดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์โดยไม่รับวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ