คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 422/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินยอมผ่อนเวลาให้กับผู้ออกตั๋วนั้นไม่เป็นเหตุให้ผู้รับอวัลหยุดพ้นจากความรับผิด เพราะผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่งเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกันจึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเช่นเดียวกับผู้ออกตั๋ว และไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันตามหลักทั่วไปในเรื่องค้ำประกัน
ผู้รับอาวัลสั่งจ่ายเช็คจำนวนหนึ่งผ่อนชำระหนี้ให้แก่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นการรับสารภาพหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น และย่อมเป็นเหตุให้อายุความสดุดหยุดลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้ขายตั๋วสัญญาใช้เงินและได้ทำหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินไว้กับโจทก์ว่า จะจ่ายเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ได้ทำหนังสือรับรอง หากผิดนัดยอมใช้เงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหาย จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับรองเป็นอาวัลรับประกันใช้เงินทั้งหมดดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองไม่ใช้เงินให้โจทก์ตามกำหนด เมื่อทวงถามได้ใช้ให้บางส่วนเป็นเงิน ๕๒,๐๐๐ บาท เมื่อหักออกจากเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท โดยรวมดอกเบี้ยอีก ๑๕,๐๐๐ บาทที่จำเลยจะต้องชำระแล้ว คงค้างอีก ๖๓,๐๐๐ บาท ขอศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้เงิน ๖๓,๐๐๐ บาท และดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง ๒๖,๗๗๕ บาท รวมเป็นเงิน ๘๙,๗๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้องละ ๑ บาท ๒๕ สตางค์ต่อเดือนในต้นเงิน ๖๓,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ได้ขายตั๋วสัญญาใช้เงินและได้ทำหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินไว้กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับอาวัลจริง แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๒ ต่อเดือนเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยชำระดอกเบี้ยเกินไป ๙,๗๕๐ บาท คงเหลือต้นเงินและดอกเบี้ยที่จะต้องชำระจริง ๆ เพียง ๖๐,๑๒๕ บาท โจทก์ยังไม่ได้บอกกล่าวและคิดบัญชีการชำระหนี้กับจำเลยที่ ๑ ให้ถูกต้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า เป็นผู้รับอาวัลตามฟ้องจริง แต่ตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไม่มีผลตามกฎหมาย เพราะจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ไม่มีหนี้สินต่อกัน จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์อยู่ ๕๐,๐๐๐ บาท ขอผ่อนชำระโดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๒ ต่อเดือน ทำหลักฐานกันเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เป็นการค้ำประกันไปในตัว จำเลยที่ ๒ ค้ำประกันหนี้อันมีกำหนดแน่นอนแต่โจทก์ยอมย่อนเวลาชำระหนี้ให้จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มิได้ยินยอมหรือรู้เห็นด้วย จำเลยที่ ๒ ย่อมพ้นความรับผิด ทั้งฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราชั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยที่ค้างและไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วคืน จำเลยที่ ๑ ยังค้างชำระหนี้ให้โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินอีก ๔๘,๐๐๐ บาท ก่อนฟ้องโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามแล้ว คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๔๘,๐๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้จำเลยทั้งสองใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ ๔๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่า จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ ตามที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาให้จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มิได้ตกลงด้วย จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๐ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในเรื่องตั๋วเงินนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๐๓ บัญญัติว่า “ในการใช้เงินตามตั๋วเงินท่านมิให้วันผ่อน” และในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น มาตรา ๙๘๕ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตั๋วแลกเงินตามมาตรา ๙๔๐ และ ๙๖๗ มาใช้บังคับก่อน มาตรา ๙๔๐ วรรคแรกบัญญัติว่า “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน” และมาตรา ๙๖๗ วรรคแรกบัญญัติว่า “ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้นบรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดี รับรองก็ดี สลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดีย่อมร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง” วรรคสองบัญญัติว่า “ผู้ทรงย่อมมีสิทธิว่ากล่าวเอาความแก่บรรดาบุคคลเหล่านี้เรียงตัวหรือรวมกันก็ได้ โดยมิพักต้องดำเนินตามลำดับที่คนเหล่านั้นมาต้องผูกพัน” เมื่อจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับอาวัลในตั๋วสัญญาใช้เงินและหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท จำเลยที่ ๒ จึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๑ ที่อาจจะถูกบังคับให้ชำระหนี้เมื่อใดก็ได้ เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นถึงกำหนดชำระหนี้ จำเลยที่ ๒ จึงไม่อยู่ในฐานเป็นผู้ค้ำประกันตามหลักทั่วไปในลักษณะค้ำประกัน จึงจะนำบทบัญญัติมาตรา ๗๐๐ ที่บัญญัติว่า “ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด” มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะบัญญัติความรับผิดกันดังเช่นตามมาตรา ๖๘๘ บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระก่อนก็ได้ …” และมาตรา ๖๘๙ บัญญัติว่า “ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่า ลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน” ฐานะของผู้รับอาวัลกับผู้ค้ำประกันจึงผิดกัน ดังนั้นแม้จะได้ความว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาให้กับจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มิได้ตกลงด้วย จำเลยที่ ๒ ก็ยังต้องรับผิดอยู่ ฎีกาจำเลยที่ ๒ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกาข้อต่อมาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๐๑ บัญญัติว่า “ในคดีฟ้องผู้รับรองตั๋วแลกเงินก็ดีผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินก็ดี ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลา ๓ ปีนับแต่วันตั๋วนั้น ๆ ถึงกำหนดใช้เงิน” ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทถึงกำหนดใช้เงินวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ โจทก์มาฟ้องเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๑๗ เป็นเวลาหลังจากตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินเกินกว่า ๓ ปีแล้ว จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดนั้น ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์กล่าวในฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ จำเลยทั้งสองผ่อนใช้เงินให้โจทก์ ๕๒,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ให้การว่าจำเลยที่ ๑ ใช้เงินให้โจทก์แล้ว ๕๒,๐๐๐ บาท แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ ๒ ซึ่งนำสืบก่อนเบิกความว่า จำเลยที่ ๑ จะชำระเงินให้โจทก์หรือไม่ไม่ทราบ ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๑๗ ก่อนโจทก์ฟ้อง จึงทราบว่าจำเลยที่ ๑ ยังชำระเงินให้โจทก์ไม่ครบจากหนังสือของโจทก์ มิได้ปฏิเสธว่าจำเลยที่ ๒ ไม่เคยชำระเงินให้โจทก์ โจทก์นำสืบว่าเงินจำนวน ๕๒,๐๐๐ บาทที่ได้รับผ่อนชำระเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ นั้น จำเลยที่ ๒ เป็นคนนำเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาศรีย่าน เลขที่ ๗๕๙๐๙๕ จำนวนเงิน ๕๒,๐๐๐ บาท มาชำระให้โจทก์ปรากฏตามสำเนาใบรับเงินเอกสารหมาย จ.๓ ซึ่งมีข้อความว่า ได้รับชำระค่าตั๋วสัญญาใช้เงินจากคุณไพบูลย์ อารีชนะ (จำเลยที่ ๒) และส่วนลดจำนวน ๕๒,๐๐๐ บาท แม้โจทก์จะเพิ่งส่งเอกสารหมาย จ.๓ เป็นพยานเมื่อวันที่ร้อยตรีชรัตน์ นาคศุภรังษี พยานโจทก์เบิกความ โดยมิได้ส่งให้จำเลยที่ ๒ ดูขณะเบิกความเพื่อซักค้านก็ตาม แต่จำเลยที่ ๒ ก็มิได้คัดค้านการอ้างเอกสารฉบับนี้ว่าไม่ถูกต้องและไม่ควรรับฟัง ทั้งในฎีกาของจำเลยที่ ๒ ยังรับว่าเช็คฉบับดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ขอยืมไปจากจำเลยที่ ๒ และการที่มีชื่อจำเลยที่ ๒ ในเอกสารหมาย จ.๓ ก็ในฐานะเจ้าของเช็คเท่านั้น จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ สั่งจ่ายเช็คฉบับนี้จำนวนเงิน ๕๒,๐๐๐ บาทผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ เป็นการรับสารภาพหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาท จึงทำให้อายุความสดุดหยุดลงและตั้งต้นนับใหม่ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๑๗ จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ ๓ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๐๑ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ ๒ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน

Share